รู้จัก “โรคแพ้ความสูง” ภัยเงียบของนักเดินเขา สาเหตุและอาการเป็นอย่างไร

"โรคแพ้ความสูง" อันตรายที่ไม่ควรมองข้ามจากการท่องเที่ยวในพื้นที่สูงมากกว่า 2,000-2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นต้นไป มีสาเหตุและอาการอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่


            จากเหตุการณ์หญิงนักท่องเที่ยวชาวไทย 2 ราย เสียชีวิตจากการเดินเขาที่ อันนะปุรณะ เซอร์กิต ที่ประเทศเนปาล ขณะอยู่ที่ระดับความสูงเหนือน้ำทะเล 4,200 เมตร นอกจากนี้ ยังพบว่ามีนักเดินเขาต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บและอาการป่วยเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก โรคแพ้ความสูง ภัยเงียบสำหรับนักเดินทางที่ไม่ควรมองข้าม


โรคแพ้ความสูง คืออะไร


         โรคแพ้ความสูง หรือโรคแพ้พื้นที่สูง (Altitude sickness) เป็นอาการของร่างกายที่ขาดออกซิเจนจากการอยู่บนที่สูง ซึ่งมีอากาศเบาบาง เพราะยิ่งสูง ออกซิเจนก็ยิ่งน้อยลง พบได้ในนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก ๆ เช่น ทิเบต เปรู โบลิเวีย หรือไปปีนเขาในประเทศเนปาล เนื่องจากบนที่สูง ความหนาแน่นของโมเลกุลออกซิเจนจะน้อยกว่าอากาศในที่ต่ำใกล้ระดับน้ำทะเลอย่างประเทศไทย ทำให้การสูดลมหายใจเต็มปอด 1 ครั้ง จะได้จำนวนปริมาณของอากาศน้อยลงกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดอาการขาดออกซิเจนแบบไม่รู้ตัว และร่างกายทำงานหนักขึ้นเพื่อปรับตัว เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น กระดูกไขสันหลังผลิตเม็ดเลือดมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย เป็นต้น จนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ตั้งแต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยคนทั่วไปมักจะเริ่มมีอาการเมื่ออยู่บนพื้นที่สูงตั้งแต่ 3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนเพียง 75% ของอากาศระดับน้ำทะเลในปริมาตรที่เท่ากัน


โรคแพ้ความสูงแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่


       1. Acute Mountain Sickness (AMS) เป็นอาการเริ่มแรก เช่น มีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เป็นต้น หากมีอาการเช่นนี้ ให้พักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการขึ้นไปยังที่สูงกว่านี้ ควรพักผ่อนจนกว่าจะอาการดีขึ้นถึงไปต่อ หากแย่ลง อาการจะหนักขึ้นไปเป็นกลุ่มอาการที่ 2 หรือ 3


     2. High Altitude Cerebral Edema หรือภาวะสมองบวมจากการแพ้พื้นที่สูง อาการนี้เป็นอาการต่อเนื่องจาก AMS โดยมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนมาก เดินเซ ชัก พูดไม่รู้เรื่อง โคม่า หรือเสียชีวิต หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบลงจากระดับความสูงนั้นให้เร็วที่สุด และไปพบแพทย์ในทันที


      3. High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) หรือน้ำท่วมปอดจากการแพ้พื้นที่สูง จะมีอาการ เช่น เหนื่อยมากขึ้น โดยมักมีอาการเหนื่อยตอนกลางคืน และไอแห้ง ๆ ข้อแตกต่างระหว่างอาการกลุ่ม AMS และอาการกลุ่มนี้ คือ หากเป็น AMS เมื่อหยุดพักแล้ว จะมีอาการดีขึ้น แต่หากเป็นกลุ่มอาการ HAPE แม้ว่าจะพักสักระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังมีอาการเหนื่อยมากขึ้น และอยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย ซึ่งแสดงถึงอาการที่อันตรายมาก ต้องพบแพทย์และลงจากที่สูงในทันที


อาการของโรคแพ้ความสูง


       ในช่วง 6-12 ชั่วโมงแรก ร่างกายอาจจะยังไม่รู้สึกผิดปกตินัก เนื่องจากอาจจะยังมีออกซิเจนสะสมในร่างกายอยู่ แต่เมื่อออกซิเจนในร่างกายน้อยลง จะเกิดอาการ ดังนี้


         - เหนื่อยง่าย หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพราะเกิดจากการปรับตัวโดยธรรมชาติของร่างกาย


         - ปวดศีรษะด้านใต้ท้ายทอย เพราะเป็นสมองที่สั่งงานเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ


        - อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปากเขียวคล้ำ ฯลฯ แล้วแต่บุคคล แต่หากมีอาการขั้นรุนแรง อาจช็อก หรือเสียชีวิตได้


โรคแพ้ความสูง เกิดกับใครได้บ้าง


        โรคแพ้ความสูง สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย แม้ผู้สูงอายุอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของร่างกายอาจไม่ดีเท่ากับคนวัยหนุ่มสาว และอาจมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยช่วยเร่ง แต่เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ก็มีอาการของโรคนี้ได้เช่นกัน


       ดังนั้น ความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวจะเกิด โรคแพ้ความสูง หรือไม่นั้น จึงไม่ขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ ความฟิตของร่างกาย และไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าใครสามารถปรับตัวได้ดีกว่า แสดงว่า แม้แต่นักกีฬาที่แข็งแรงอาจเกิดอาการ โรคแพ้ความสูงได้  ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุบางคนเมื่อไปเที่ยวที่สูง ๆ อาจจะไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำนายได้


          อย่างไรก็ตาม หากเคยมีประสบการณ์ไปเที่ยวในพื้นที่สูงมาก่อนก็อาจช่วยคาดเดาได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคแพ้ความสูงหรือไม่ เช่น ไปทิเบตมาแล้วไม่มีปัญหาใด ๆ ก็น่าจะไปเที่ยวในที่สูงระดับเดียวกันได้ และในทางกลับกัน ถ้าใครเคยไปเที่ยวที่สูงแล้วมีปัญหา การไปที่สูงครั้งต่อไปก็มักจะเกิดปัญหาเหมือนครั้งเดิม จึงต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีก่อนเดินทาง รวมทั้งควรเตรียมยาไว้เพื่อบรรเทาอาการ และซื้อประกันเดินทางไว้ล่วงหน้า ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคแพ้ความสูง


วิธีป้องกันโรคแพ้ความสูง


      1.ต้องศึกษาข้อมูลถึงสถานที่ที่จะไปก่อนการเดินทาง ว่าอยู่ในพื้นที่สูงมากหรือไม่ เช่น ถ้าจะไปเที่ยวทิเบต ภูฏาน เนปาล เปรู โบลิเวีย ประเทศเหล่านี้มักมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่สูงอยู่มาก ควรหาข้อมูลถึงระดับความสูง และดูแผนการเดินทางของเราเสมอ ว่าจะต้องผ่านในพื้นที่สูงมากหรือไม่


    2.ร่างกายต้องการเวลาปรับตัว ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกแผนการเดินทางที่ไม่ขึ้นสู่ที่สูงเร็วเกินไป ควรพักที่เมืองที่อยู่ต่ำกว่า 1-2 วัน เพื่อปรับตัว


    3.ถ้าจำเป็นต้องเดินทางขึ้นสู่ที่สูงอย่างรวดเร็ว เช่น นั่งเครื่องบินจากลิมาไปคุซโก (3399 m) นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง (ประมาณ 20-25%) มักจะมีอาการ ดังนั้น ในช่วงแรก ๆ ที่ขึ้นไปที่สูง ควรงดการออกกำลัง เดิน หรือวิ่ง ควรพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆ และสังเกตอาการของตัวเองว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ถ้ามีอาการของ AMS เพียงเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวได้ และอาการจะหายไปเองใน 1-2 วัน แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์และเดินทางสู่ที่ต่ำกว่าทันที


   4.การใช้ยาเพื่อป้องกันโรคแพ้ความสูง เช่น Acetazolamide (diamox) ในนักท่องเที่ยวบางรายมีความจำเป็น เพราะยาจะช่วยป้องกันและลดบรรเทาอาการได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อพิจารณาแผนการเดินทาง ข้อบ่งชี้ ข้อห้ามในการใช้ยา และแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง


  5.สำหรับนักท่องเที่ยวที่ปีนเขา หรือเทรกกิ้งในที่สูง ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ไม่ควรรีบเดินหรือทำเวลาก่อนเวลาที่แนะนำไว้โดยทั่วไป เช่น ถ้าจะปีนยอดเขาคีรีมันจาโร (5895 m) ควรมีการเตรียมทีม เตรียมอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น และควรเดินทางตามที่กำหนดไว้  ไม่ควรจะรีบปีนโดยใช้เวลาน้อยกว่า 5 วัน เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะปีนไปไม่ถึง และเกิดการไม่สบายกลางทาง


  6.ถ้ามีอาการแพ้ความสูงเกิดขึ้น ควรระมัดระวัง และสังเกตอาการตนเองและเพื่อนร่วมทางเสมอ ถ้ามีอาการไม่มาก เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย ควรพัก ถ้าเป็นแค่ Acute mountain sickness ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวได้เอง แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยมาก ไอ สับสน ปวดศีรษะ มึนงงมาก ต้องรีบลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า และหาสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที


ข้อมูลอ้างอิง: คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และสถานกงสุลใหญ่ นครคุนหมิง


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://www.thairath.co.th/