รศ. ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมใหญ่ประจำปี โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม เป็นโครงการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพมีระยะยาว 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2555–2565 ดำเนินการใน 21 จังหวัดนำร่องทั่วประเทศ ในกลุ่มเป้าหมาย คือ สตรีไทยอายุ 30-70 ปี จำนวน 1.9 ล้านคน มีรูปแบบการดำเนินงานที่เริ่มต้นด้วยการตรวจเต้านมตนเอง (Breast Self Examination : BSE) แบบ 3 นิ้ว 3 สัมผัส โดยการสนับสนุนจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การรับรองผลการตรวจโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ควบคู่กับการบันทึกผลตรวจลงในสมุดบันทึกการตรวจเต้านมตนเอง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างความตระหนักให้สตรีมีพฤติกรรมสุขภาพในการตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำ ทุกเดือน เมื่อมีความผิดปกติ รีบไปพบแพทย์ ตรวจยืนยันด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว
ทั้งนี้ การประเมินโครงการที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเองมีความสำคัญที่ทำให้พบก้อนของมะเร็งเต้านม (Cancer Size) ที่มีขนาดเล็กลง และพบระยะการเป็นมะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น (Early Staging) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอกับกลุ่มที่ตรวจไม่สม่ำเสมอ ความสำเร็จของโครงการนี้จะเป็นรูปแบบของการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่สามารถขยายผลการดำเนินงานได้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อไป
ทางด้าน การดำเนินงานตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสตรีที่มีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะพบขนาดก้อนมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก ทำให้อัตราการรอดและอัตราการเสียชีวิตดีกว่ากลุ่มที่ตรวจไม่สม่ำเสมอ โดยพบอัตราป่วยมะเร็งเต้านมเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อแสนของสตรีไทยอายุ 30-70 ปี โดยเป็นมะเร็งระยะแรก ร้อยละ 69.9 มีอัตราการรอดชีพในกลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจเต้านมสม่ำเสมอร้อยละ 95 ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจพบก้อนเต้านมที่เร็วขึ้นของสตรี ทำให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้เร็วขึ้น ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้สตรีมีความตระหนักและมีพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ การสร้างพฤติกรรมสุขภาพนั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและระยะเวลา ทั้งนี้ ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทุกภาคส่วนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อให้สตรีไทยพ้นภัยมะเร็งเต้านม