โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคที่คนเหนื่อยเร็วต้องเข้าใจ

โรคลิ้นหัวใจ (Valve Heart Disease) คือ โรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นบริเวณลิ้นหัวใจทั้งอาการลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่ว หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดมีปัญหาในระดับรุนแรง จะทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งการรักษานั้นจะต้องทำผ่านการผ่าตัด ทั้งการผ่าตัดแบบเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน


ทำไมลิ้นหัวใจจึงสำคัญ
            การไหลเวียนของเลือดในหัวใจทั้ง 4 ห้อง จะต้องมีลิ้นหัวใจซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ หากลิ้นหัวใจเกิดรั่ว หรือเกิดความเสียหาย จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เลือดไม่ไหลเวียน และเสียชีวิตในที่สุด
โรคลิ้นหัวใจรั่วมีสาเหตุมาจากอะไร
            โรคนี้สามารถเกิดขึ้นภายใต้อาการรั่ว และตีบของลิ้นหัวใจ ที่จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจโดยตรง โดยสาเหตุของการเกิดโรคนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เราจึงแบ่งสาเหตุทั้งหมดตามช่วงอายุ ได้แก่ ช่วงแรกเกิด ช่วงเด็กหรือผู้ใหญ่ และช่วงสูงอายุ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดจากปัจจัยภายนอกได้อีกด้วย
- ช่วงวัยเด็กแรกเกิดนั้นจะเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้
- ช่วงวัยเด็กโต หรือเป็นผู้ใหญ่มักเกิดจากการเป็นไข้รูมาติก (อ่านบทความไข้รูมาติก คลิก)
- ช่วงวัยผู้สูงอายุเกิดจากความเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจเอง
- เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อจากเข็มฉีดยา การติดเชื้อจากการเจาะรูต่าง ๆ ตามร่างกาย
            นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น โรคนี้ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ เกิดจากลิ้นหัวใจติดเชื้อ เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือตีบ
            โรคที่เกี่ยวกับหัวใจมีความอันตรายมากอยู่แล้ว เพราะหัวใจถือว่าเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของร่างกาย ดังนั้น การสังเกตว่าเรามีอาการสุ่มเสี่ยงกับโรคลิ้นหัวใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้ไว้ก่อน โดยอาการของลิ้นหัวใจรั่วจะเกิดขึ้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลิ้นที่เกิดความเสียหาย ได้แก่
- ลิ้นหัวใจด้านขวา การทำงานของอวัยวะฝั่งขวาจะเสื่อมลง นอกจากนี้ ยังมีอาการท้องอืด คอโป่ง อวัยวะต่าง ๆ บวม เช่น ขา ตับ และหัวใจฝั่งขวา
- ลิ้นหัวใจด้านซ้าย จะมีผลกับการลำเลียงออกซิเจนจึงส่งผลให้เหนื่อยเร็วกว่าปกติ ในระดับรุนแรงอาการเหนื่อยจะเกิดขึ้นแม้ว่าจะนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ตาม
วินิจฉัยลิ้นหัวใจรั่วอย่างไร
            สามารถตรวจการทำงานของหัวใจได้ผ่านการทำอัลตราซาวด์ หรือทำคลื่นเสียงสะท้อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ การตรวจจะทำให้ทราบการไหลเวียน และการสูบฉีดของเลือด รวมไปถึงการปิด-การเปิดของลิ้นหัวใจว่ามีการรั่วหรือไม่
ทำอย่างไรหากเป็นลิ้นหัวใจรั่ว
            ในช่วงแรกยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่เมื่อมีอาการเหนื่อยล้าต้องงดกิจกรรมที่ออกแรงมากทุกรูปแบบ แม้ว่าจะเป็นการออกกำลังกายก็ตาม รวมถึงต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องระมัดระวังแผลติดเชื้อตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการรักษาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
การรักษาลิ้นหัวใจรั่ว
สามารถรักษาได้ผ่านการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 2 รูปแบบ คือ
1. ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม เป็นการรักษาด้วยการเอาลิ้นหัวใจที่เสียหายออก และนำลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้าไปแทน ซึ่งมีอยู่หลายแบบทั้งจากโลหะ หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ โดยอายุของลิ้นหัวใจใหม่นี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 15 ปี ควบคู่กับการรับประทานยาเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
2. ผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ เป็นการผ่าตัดซ่อมแซมแก้ไขส่วนที่เสียหายของลิ้นหัวใจ โดยใช้เนื้อเยื่อหัวใจของผู้ป่วยเอง การรักษาด้วยวิธีนี้ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด เพราะร่างกายของผู้ป่วยจะไม่ต่อต้าน และสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงแบบเดิมอีกด้วย

ป้องกันลิ้นหัวใจรั่วอย่างไร
            โรคนี้ยากที่จะป้องกัน เนื่องจากปัจจัยในการเกิดโรคเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การเป็นแต่กำเนิด และการเสื่อมสภาพตามอายุ ถึงจะเป็นอย่างนั้นเราก็ยังสามารถป้องกันปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น ไข้รูมาติก ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้รูมาติก
- หากรู้ว่ามีการแพร่เชื้อโรคของไข้รูมาติก ควรหลีกเลี่ยงการไปยังพื้นที่นั้น หรือพยายามหลีกเลี่ยงชุมชนแออัด
- ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับไข้รูมาติก
- ดูแลสุขอนามัยของสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานที่สำคัญที่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น โรงเรียน เป็นต้น
            โรคลิ้นหัวใจรั่วป้องกันได้บางปัจจัย และผลของโรคนั้นถือว่ารุนแรง ดังนั้น หากเป็นโรคนี้ควรเข้ารับการรักษาก่อนจะอันตราย ถ้าจะให้ดีกว่านี้เราควรตรวจการทำงานของหัวใจเพื่อหาความผิดปกติในหัวใจ เพราะเราอาจไม่รู้เลยว่าหัวใจของเรานั้นยังคงทำงานได้อย่างสมบูรณ์อยู่หรือไม่

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Valve_Heart_Disease