นักวิจัยประดิษฐ์เครื่องยกท่อนแขน ช่วยผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS หยิบจับของได้

"ทีมนักวิทยาศาสตร์คิดค้นกลไกหัวขับวาล์วแบบพองตัว ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงยกแขนเองได้"
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ร่วมมือกับโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts General Hospital) ประเทศสหรัฐอเมริกา คิดค้นกลไกหัวขับวาล์วแบบพองตัวที่มีผิวสัมผัสเป็นผ้าซึ่งจะติดตั้งอยู่ใต้รักแร้แต่ละข้างของผู้สวมใส่ โดยมีปั๊มลมพลังงานแบตเตอรีเชื่อมต่อติดไว้ที่ด้านหลังเอวของผู้ป่วย
            สำหรับผู้คนที่ป่วยจากอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS) มักเผชิญปัญหายกแขนไม่ขึ้น เนื่องจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ในสมองและไขสันหลัง นักวิจัยจึงเริ่มคิดค้นระบบช่วยเหลือด้วยบอลลูนช่วยเหลือในการยกแขน โดยหลักการการทำงานของเครื่องช่วยเหลือนี้ คือ เมื่อเซ็นเซอร์บนตัวเครื่องตรวจจับการขยับแขนขึ้นด้านบนเพียงเล็กน้อย เซ็นเซอร์จะกระตุ้นปั๊มลมของบอลลูนรูปตัว Y ใต้วงแขนให้พองตัว ช่วยในการยกแขนขึ้นและลงอย่างนุ่มนวล ขณะที่การลดกล้ามเนื้อแขนลงเล็กน้อยจะกระตุ้นหัววาล์วให้ปล่อยลมออกจากบอลลูนช้า ๆ ช่วยในการลดแขนลงอีกครั้ง
            ปัจจุบันมีการทดสอบระบบกับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS) ไปแล้ว 10 ราย โดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ทดลองใช้เครื่อง จำเป็นต้องได้รับการทดสอบสั้น ๆ ในระยะเวลา 30 วินาที จำเป็นเพื่อวัดระดับความแข็งแรงของแขนและไหล่ รวมถึงความคล่องตัวที่แตกต่างกันของผู้ใช้แต่ละคน ขณะที่ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การตั้งค่าของเครื่องกระตุ้นดังกล่าวในระยะเวลาราว 15 นาที จนกระทั่งสามารถเอื้อมมือหยิบสิ่งของบางอย่างเองได้ในที่สุด


          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS) มักจะมีอาการรุนแรงไปถึงจุดที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแม้เพียงน้อยนิดได้ นักวิทยาศาสตร์กำลังมองหาวิธีการให้วาล์วสามารถทำงานได้โดยใช้การสั่งงานจากสมอง ซึ่งจะมีการพัฒนาตัวเชื่อมต่อระบบประสาทรับคำสั่งสมองแบบสวมใส่ได้ต่อไป


          โดย ศาสตราจารย์ คอเนอร์ วอลช์ (Conor Walsh) นักวิจัยอาวุโส และผู้วิจัยหลักระบุว่า "การวิจัยกลไกข้อต่อแบบอ่อนนุ่มที่สามารถสวมใส่ได้เหล่านี้ อาจช่วยพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่สามารถฟื้นฟูการทำงานของแขน-ขาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS) และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้"
          งานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Science Translational Medicine


 


ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล : newatlas , https://www.tnnthailand.com/news/tech/138090/
ที่มาของรูปภาพ : Harvard University