สมาคมแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ มุมมองการพัฒนาแพทย์กระดูกและข้อ รองรับสังคมผู้สูงอายุ

“หมอกีรติ” นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เผยข้อมูลอีก 5 ปี ผู้ป่วยกระดูกและข้อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้น เตรียมรองรับการบริการ เดินหน้าพัฒนาและผลิตแพทย์เชี่ยวชาญ พร้อมกระจายให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ของประเทศ
                 เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ปี 2566 เป็น “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” มีนโยบายให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึงทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งหลากหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับจำนวนมาก ทั้งคลินิกผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพฟัน สายตา ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้ คือ การดูแลรักษาด้านกระดูกและข้อ ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเกิดปัญหาด้านกระดูกมาก
                 แพทย์ออร์โธปิดิกส์ จึงเป็นอีกกลุ่มที่มีความสำคัญในการรองรับการให้บริการผู้สูงอายุ ในขณะที่หลายคนเกิดคำถามว่า ปัจจุบันการผลิตและกระจายตัวแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือแพทย์ด้านกระดูกและข้อในประเทศไทย เพียงพอต่อการให้บริการในทุกพื้นที่หรือไม่
                  ล่าสุด ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงทิศทางการพัฒนาแพทย์เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ว่า ปัจจุบันองค์กรที่ดูแลแพทย์ด้านกระดูกและข้อในประเทศไทยมีอยู่ 2 องค์กร คือ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย


 

คาดไม่เกิน 5 ปี ผู้สูงอายุเพิ่ม โรคกระดูกและข้อเพิ่ม
                 โดยในส่วนของสมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ ได้เห็นทิศทางของสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบัน 5 คน มี 1 คน เป็นผู้สูงอายุ และอีกไม่นานไม่เกิน 5 ปี จะพบ 4 คน มี 1 คน เป็นผู้สูงอายุ อีกทั้งยังพบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหากระดูกและข้อ และยิ่งอายุยืนยาวมากขึ้น ความเสื่อมก็จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม ทำให้เกิดความเสียหายของกระดูกและข้อ จนนำไปสู่การรักษาที่ซับซ้อน ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพของแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุ และการรักษาองค์รวมต่าง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพแต่ละพื้นที่ให้สามารถดูแลคนไข้ของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ลดการรอคอยการรักษา ลดปัญหาช่องว่างการส่งต่อ ทำให้คนไข้เข้าถึงการบริการมากขึ้น
                 อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาศักยภาพของแพทย์ออร์โธปิดิกส์แล้ว ศ.นพ.กีรติยังให้ข้อมูลว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้การบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ คือ ปริมาณและการกระจายตัวของแพทย์ด้านกระดูกและข้อต้องเหมาะสม โดยปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ด้านกระดูกและข้อประมาณ 2,900 ท่าน และมากกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงไม่ขาดแคลนหมอกระดูก แต่ในส่วนภูมิภาคบางส่วน โดยเฉพาะในระดับอำเภออาจยังไม่เพียงพอ
                 “ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า แพทย์ออร์โธปิดิกส์ 1 ใน 4 อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อีก 1 ใน 4 สังกัดภาครัฐอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ และที่เหลืออีก 1 ใน 4 อยู่ภาคเอกชน เห็นได้ว่า สัดส่วนหมอกระดูกจะอยู่ในภาครัฐประมาณครึ่งหนึ่ง และอยู่ใน กทม. มากที่สุด”

การกระจายตัวของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในปัจจุบัน
                 ศ.นพ.กีรติอธิบายเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาภาพรวมการกระจายตัวของแพทย์กระดูกในปัจจุบัน ในระดับจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ ถือว่าเพียงพอ แต่ระดับอำเภอ บางพื้นที่ยังต้องส่งต่อ แต่ที่ต้องเตรียมพร้อม คือ วันข้างหน้าที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุมากยิ่งขึ้น ยิ่งใน 5 ปีข้างหน้า จำนวนแพทย์อาจไม่เพียงพอในการให้บริการอีกต่อไป จึงจำเป็นต้องสร้างหมอรุ่นใหม่ ๆ อย่างปัจจุบันผลิตได้ปีละ 145 ท่าน ซึ่งมีการพัฒนาให้มีศักยภาพพร้อมในการทำงาน การดูแลประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มากขึ้นโดยไม่ต้องส่งต่อ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของสมาคมฯ
                 “การผลิตแพทย์ออร์โธปิดิกส์นั้น เราก็อยากผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งปัจจุบันเราทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้นกว่าเดิม มีการวางแผนร่วมกัน 3 ปี 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้ตอบโจทย์มากขึ้น ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพในการผลิตแพทย์ได้เอง เรียกว่ามีการร่วมงานกันมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจริง ๆ ทั้งจำนวน คุณภาพ ทั้งหมดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน” นายกสมาคมแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ กล่าว
                 ศ.นพ.กีรติกล่าวอีกว่า ราชวิทยาลัยฯ และสมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและผลิตแพทย์เพียงพอต่อความต้องการ ที่ผ่านมาจึงทำงานประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผลิตแพทย์ออกมาตรงกับโจทย์จริง ๆ เพราะไม่ต้องการผลิตเกินความจำเป็น หรือขาดจนไม่เพียงพอ แต่สิ่งสำคัญต้องผลิตเพื่อรองรับภาครัฐให้เพียงพอก่อน โดยวางแผนทุกมิติ ทั้งการพัฒนา และการผลิตอย่างเหมาะสม อย่างการดูแลผู้ที่มีภาวะกระดูกหักฉุกเฉิน กระดูกหักในผู้สูงอายุรอบข้อสะโพก หรือกระดูกหักในกระดูกเชิงกรานที่รุนแรง อาจต้องผลิตแพทย์เชี่ยวชาญเรื่องนี้มากขึ้น และในพื้นที่ที่มีปัญหา หรือมีข้อมูลว่าอุบัติเหตุสูงก็ต้องเสริมกำลังพลตรงนั้น รวมทั้งต้องร่วมกับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลร่วมกัน
                 “ในเรื่องของศักยภาพแพทย์กระดูกและข้อ มีการพัฒนาตลอด จึงมั่นใจได้ว่ามีความเชี่ยวชาญจริง ๆ อย่างตั้งแต่แรกเริ่มจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ต้องไปอบรมเพิ่มพูนทักษะอีก 3 ปี จากนั้นกลับมาเรียนเฉพาะทาง อย่างหมอกระดูกประมาณ 4 ปี เมื่อจบแล้วก็เรียนต่อสาขาต่าง ๆ อีก เช่น กระดูกข้อเท้า กระดูกสันหลังอีก 1-2 ปี และเรายังมีการพัฒนาศักยภาพของหมอกระดูกต่อเนื่องตลอด จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความเชี่ยวชาญ” ศ.นพ.กีรติกล่าว
แพทย์ออร์โธปิดิกส์ต้องกระจายตัวเพื่อบริการประชาชนอย่างครอบคลุม
                 ประเด็นสำคัญ คือ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือหมอกระดูก ต้องมีการกระจายตัวอย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากที่สุด โดย ศ.นพ.กีรติย้ำว่า ปัจจุบันแพทย์กระดูกและข้อ ในระดับโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) มีเพียงพอ แต่ในระดับอำเภอ บางอำเภอก็ไม่มีหมอกระดูก ขณะที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ โรงพยาบาลจังหวัดมีหมอกระดูกหมดแล้ว คาดการณ์ว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า เพียงพอต่อการบริการ แต่ต้องมีแผนพัฒนาและผลิตอัตรากำลังรองรับในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
                 “ปัจจุบันเราผลิตแพทย์จบใหม่ได้ 145 ท่านต่อปี ขณะนี้กำลังพิจารณาและจัดทำแผนรองรับในอนาคต ซึ่งต้องมีการศึกษาความต้องการและบริบทการกระจายตัว โดยเฉพาะนโยบายของรัฐ มีส่วนสำคัญมากในการตัดสินว่าจะเพิ่มหรือลดจำนวนแพทย์ แต่หากมีการกระจายตัวที่ดีในปริมาณขณะนี้ ก็อาจจะเพียงพอไปอีกหลายปี แต่หากการกระจายตัวแพทย์ไม่ดีก็ต้องเพิ่มจำนวนการผลิต เพื่อป้อนภาครัฐสู่ภูมิภาคมากขึ้น” นายกสมาคมฯ กล่าว
                 ทั้งนี้ หากต้องผลิตแพทย์ออร์โธปิดิกส์เพิ่มเติม จะต้องเน้นแพทย์ด้านไหนเป็นพิเศษนั้น ศ.นพ.กีรติกล่าวว่า จริง ๆ ทุกมิติมีความสำคัญทั้งหมด บางโรคก่อโรคน้อยแต่รุนแรง เช่น มะเร็งกระดูก หรือกระดูกผิดรูปในเด็ก แม้พบไม่มากแต่รุนแรง ต้องหาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ จึงต้องเพิ่มผู้เชี่ยวชาญทุกด้านให้ครอบคลุมทั้งหมด แต่หากถามว่า ช่วงนี้ต้องเน้นการดูแลกลุ่มไหนเป็นพิเศษ ก็ต้องเป็นผู้สูงอายุ เพราะภาระงานส่วนนี้สูงขึ้น
                 ส่วนแผนการผลิตแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะเป็นอย่างไร..คาดการณ์ว่าต้องรองรับสังคมสูงอายุเป็นสำคัญ แต่ทั้งหมดทั้งปวงยังต้องติดตาม เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน....


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.hfocus.org/content/2023/03/27357