พญ.กัลยรัตน์ โอภาสวานิช
สูตินรีแพทย์

การคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ การคุมกำเนิดแบบถาวร และการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ซึ่ง แต่ละวิธีนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละบุคคล ความต้องการในการมีบุตร ระยะเวลาในความต้องการคุมกำเนิด ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
วิธีการคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง เลือกคุมกำเนิดแบบไหนดี?
                 ยาฝังคุมกำเนิด หรือ การฝังยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยการฝังหลอดบรรจุฮอร์โมนเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ออกฤทธิ์นาน โดยออกฤทธิ์ได้นาน 3-5 ปี ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ตามกำหนดเวลาที่ฝังยา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยยาฝังคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงมาก โดยมีโอกาสล้มเหลวที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่เกิน 0.05-0.1%
                  ขั้นตอนในการฝังยาคุมนั้นไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาในการฝังประมาณ 3-10 นาที โดยฝังแท่งยาใต้ชั้นผิวหนัง บริเวณใต้ท้องแขนด้านใน ปัจจุบันมีทั้งแบบ 1 แท่ง และ 2 แท่ง โดยควรเริ่มฝังยาภายใน 7 วันแรกของการมีรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ยาฝังคุมกำเนิด
                 กลไกการป้องกันการตั้งครรภ์ คือ หลังจากตัวยาออกฤทธิ์จะไปยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้น ส่งผลให้เชื้ออสุจิเคลื่อนผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกได้ยากขึ้น และยังทำให้โพรงมดลูกบางไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน หากต้องการยุติการคุมกำเนิดหรือเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น สามารถนำแท่งยาคุมออกเมื่อใดก็ได้ และสามารถมีบุตรได้เมื่อร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ โดยจะมีการตกไข่กลับมาภายใน 3 สัปดาห์
                 นอกจากนี้ สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องหยุดการคุมกำเนิดหรือถอดยาออก
ผลข้างเคียงที่อาจพบหากคุมกำเนิดด้วยวิธียาฝังคุมกำเนิด
-มีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติโดยเฉพาะช่วงแรก แต่ต่อมาประจำเดือนจะค่อย ๆ น้อยลงและจะหายไปโดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ฝังยา
-บางรายอาจมีประจำเดือนมาบ่อยและมานานขึ้น (พบได้น้อยมาก)
-ปวดท้องน้อยและปวดประจำเดือนบ้างในช่วง 2-3 เดือนแรก
-ในระยะแรกอาจมีอาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด
-บริเวณที่ฝังแท่งยาอาจเกิดการอักเสบ หรือมีรอยแผลเป็นได้
-อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า
-มีอาการปวดหรือเจ็บเต้านม
-เวียนศีรษะ
-บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่ม
-เกิดฝ้า สิว
-ช่องคลอดอักเสบและแห้ง
-อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
-หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น จะมีโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ
*ข้อควรระวัง เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางประเภท จะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
(ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม โรคตับที่รุนแรง และโรคหลอดเลือดดำอุดตัน)


อ้างอิงข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ (2564)
กรมอนามัย (2562)
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.sikarin.com/female/ยาฝังคุมกำเนิด