ตลาดโรคเบาหวาน-อ้วนคึกคัก Pfizer ถอนตัว Lilly เดินหน้าเฟส 3

ข่าวน่าสนใจในตลาดยาตอนนี้ข่าวหนึ่ง คือ การที่ Pfizer ประกาศระงับการทดลองวิจัยยารักษาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน (Obesity and Diabetes) ในชื่อ Lotiglipron ซึ่งอยู่ในเฟส 2 เนื่องด้วยคนไข้มีระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้นขณะใช้ยาระหว่างการวิจัยทางคลินิก ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเซลล์ตับถูกทำลาย บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการพัฒนายาตัวนี้แล้วหันไปโฟกัสยารักษาโรคอ้วนเพียงอย่างเดียวที่ชื่อ Danugliporn แทน และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเริ่มการวิจัยเฟส 2
                  เมื่อ Pfizer ประกาศถอนตัวไป Eli Lilly จึงดูเหมือนว่าจะได้เปรียบแซงหน้าคู่แข่งในตลาดยากลุ่มนี้แล้ว
                  ยาที่ Eli Lilly รายงานผลการวิจัยทางคลินิกเฟส 2 และเดินหน้าวิจัยในเฟส 3 คือ Orforglipron เป็นยารักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนชนิดรับประทาน วันละครั้ง ในกลุ่ม non-peptide glucagon-like peptide-1 (GLP-1) receptor agonist มาดูผลการวิจัยทางคลินิกเฟส 2 ของยาตัวนี้กัน
                  การวิจัยทำที่คลินิก โรงพยาบาล และศูนย์วิจัยในสหรัฐฯ ฮังการี โปแลนด์ และสโลวาเกีย รวม 45 แห่ง ผู้ร่วมวิจัยเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ที่รักษาด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ทั้งที่ใช้ยา Metformin ร่วมหรือไม่ใช้ อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 383 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 226 คน (59%) เพศหญิง 157 คน (41%) และสิ้นสุดการวิจัยที่ 352 คน (92%) ผู้ร่วมการทดลองมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวตอนเริ่มต้น (baseline) 108.7 กก. และค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย (BMI) 37.9
                   จากนั้นสุ่มแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มใช้ยาที่ผลิตโดย Pfizer ในชื่อ Dulaglutide สัปดาห์ละครั้ง ใช้ยาหลอกสัปดาห์ละครั้ง กลุ่มใช้ยา Orforglipron 12 mg, 24 mg, 36 mg และ 45 mg วันละครั้ง โดยไม่มีข้อกำหนดใด ๆ เรื่องน้ำและอาหาร เป็นเวลานาน 36 สัปดาห์
                  ผลการวิจัยพบว่า ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้ใช้ยา Orforglipron เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มใช้ยาหลอก ในสัปดาห์ที่ 26 ค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวและ BMI เปลี่ยนไปจาก baseline -8.6% ถึง -12.6% ในกลุ่ม Orforglipron เปรียบเทียบกับ -2.0% ในกลุ่มยาหลอก สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 36 ด้วยผู้ร่วมการวิจัย 46%-75% ของกลุ่มที่ใช้ Orforglipron น้ำหนักลดลง 10% เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอกที่น้ำหนักลดลง 9%
                  ผลข้างเคียงที่พบในกลุ่มใช้ Orforglipron อยู่ที่ 61•8% ถึง 88•9% เปรียบเทียบกับ 61•8% ในกลุ่มใช้ยาหลอก และ 56•0% ในกลุ่มใช้ยา Dulaglutide ผลข้างเคียงหลักที่พบ คือ อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มโดสของยาทำให้ผู้ป่วย 10-17% ในทุกกลุ่มต้องหยุดใช้ Orforglipron นอกจากนี้ พบภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ 3 คน ในกลุ่ม Orforglipron และ 1 คน ในกลุ่ม Dulaglutide แต่ไม่รุนแรง
                  จึงสรุปผลการวิจัยเฟส 2 ว่า Orforglipron ขนาดโดส 12 mg และมากกว่านั้นให้ผลในการลด HbA1c และลดน้ำหนักลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอก หรือยา Dulaglutide ขณะที่ผลข้างเคียงไม่มีความแตกต่างกันมากในกลุ่มต่าง ๆ จึงมีความเห็นจากการการวิจัยว่า Orforglipron อาจเป็นทางเลือกให้กับยาในกลุ่ม GLP-1 receptor agonists ชนิดฉีด และยาแบบรับประทาน Semaglutide ในการรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 โดยมีแนวโน้มว่าจะลดความยุ่งยากในการใช้ยาลง


ข้อมูล:
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(23)01302-8/fulltext
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2302392
https://www.cnbc.com/2023/06/26/pfizer-to-end-development-of-experimental-obesity-pill-lotiglipron.html