8 วิธีสร้าง Work-Life Balance ยกระดับคุณภาพชีวิต/การทำงานสู่ความสำเร็จ

บ่อยครั้ง งานมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิตความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตบางครั้งมันก็พาเราแยกออกมาจากการใช้ชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตทั้งที่มันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะความสุขทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ยังส่งผลต่ออาชีพการงานที่เราทำอยู่ด้วย


แล้วความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน หรือ Work-Life Balance สำคัญยังไงกัน?


              ว่ากันโดยสรุป ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน คือ สภาวะสมดุลที่เกิดในตัวบุคคลที่สามารถจัดลำดับความสำคัญของความต้องการในอาชีพการงานกับความต้องการในชีวิตส่วนตัวได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ สาเหตุทั่วไปบางอย่างที่ทำให้ชีวิตไม่สมดุล ยกตัวอย่างเช่น


- ความรับผิดชอบที่มากขึ้นในหน้าที่การงาน


- การใช้เวลาทำงานนานขึ้น


- ความรับผิดชอบที่บ้านมากขึ้น


- การมีลูก


ฯลฯ


                คุณ Chris Chancey ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพและซีอีโอของ Amplio Recruiting ให้ข้อมูลว่า ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ดีนั้น มีผลเชิงบวกมากมาย รวมถึงความเครียดที่น้อยลง ความเสี่ยงที่จะเกิดความเหนื่อยหน่ายลดลง พร้อมกับความรู้สึกที่ดีขึ้น สิ่งนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อพนักงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวนายจ้างด้วย

              การทำงานที่มีตารางงานที่ยืดหยุ่น สามารถช่วยให้เรามีความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ดีขึ้น เพราะการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานไม่ได้เกี่ยวกับการแบ่งชั่วโมงในแต่ละวันเท่า ๆ กัน แต่เป็นการยืดหยุ่นในการทำสิ่งต่างๆ ในการทำงาน ในขณะที่ยังมีเวลาและพลังงานเหลือเพื่อสนุกกับชีวิตส่วนตัว เช่น มันอาจมีบางวันที่คุณทำงานเป็นเวลานานขึ้นเพื่อให้คุณมีเวลาสนุกกับกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตส่วนตัวในวันต่อมา เป็นต้น


               ดังนั้น ในบทความนี้จะนำเสนอ 8 วิธี ในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น เพื่อให้ชีวิตลงตัวมากขึ้นด้วย


1. ยอมรับว่าไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่สมบูรณ์แบบ


           บางทีเราอาจคิดว่า ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานจะใช้ได้แบบประสบผลในทุก ๆ วัน ที่ทุกวันคุณจะได้ทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอย่างละครึ่ง ซึ่งมันดูเหมือนจะเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็อาจไม่สามารถทำได้เสมอไป เพราะบางครั้ง เราไม่สามารถกำหนดปัจจัยภายนอกตัวเองได้แบบ 100%


             ดังนั้น อย่ามุ่งมั่นเพื่อจะสร้างตารางเวลาที่สมบูรณ์แบบ แต่จงมุ่งมั่นไปตามความจริง บางวัน คุณอาจจดจ่อกับงานที่ทำมากขึ้น ในขณะที่บางวัน คุณอาจมีเวลาและพลังงานมากขึ้นกับการทำงานอดิเรก หรือใช้เวลากับคนรัก เพราะความสมดุลนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่ในแต่ละวัน


 


2. ตามหางานอันเป็นที่รัก


              แม้ว่างานจะเป็นบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวัง แต่อาชีพของคุณไม่ควรถูกจำกัด เพราะถ้าคุณเกลียดสิ่งที่คุณทำ คุณจะไม่มีความสุข เป็นธรรมชาติ และใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายได้ คุณไม่จำเป็นต้องรักทุกสิ่งในงานที่คุณทำ แต่มันต้องมีแรงผลักดันมากพอที่จะทำให้คุณผลักตัวเองลุกขึ้นจากเตียงทุกเช้าเพื่อไปทำงาน


             และหากคุณทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ให้คนที่เป็นพิษ หรือทำงานที่คุณไม่ได้รักจริง ๆ ก็ถึงเวลาแล้วล่ะที่ต้องหางานใหม่


 

3. ให้ความสำคัญกับสุขภาพ


              การให้ความสำคัญกับสุขภาพไม่จำเป็นต้องทำแบบสุดโต่ง มันสามารถทำได้ง่าย ๆ เหมือนการนั่งสมาธิหรือออกกำลังกายทุกวัน และหากคุณป่วย ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ คุณควรจัดเวลาเพื่อแก้ไขสิ่งนี้เป็นหลักด้วย


        เพราะถ้าสุขภาพของคุณมีปัญหา มันอาจส่งผลกระทบต่องานจนอาจทำให้คุณต้องออกจากงานได้ไม่ต่างกัน และความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานก็อาจไม่เกิดขึ้นด้วย


4. อย่ากลัวที่จะตัดสัมพันธ์กับโลกภายนอก


        การตัดสัมพันธ์กับโลกภายนอกเป็นครั้งคราว  ทำให้เราฟื้นตัวจากความเครียด และทำให้เรามีความคิดและวิธีคิดอื่น ๆ เกิดขึ้นในหัว สิ่งนี้ทำได้ง่าย ๆ เช่น การทำสมาธิในแต่ละวันแทนที่จะมัวตรวจเช็กอีเมล์ที่ทำงาน หรือการแวะพักอ่านนิยายในระหว่างการทำงาน


        มากไปกว่านั้น การตัดสัมพันธ์กับโลกภายนอกเป็นครั้งคราว เป็นการใช้เวลาเพื่อผ่อนคลาย และเป็นสิ่งสำคัญมากต่อความสำเร็จ ทั้งยังจะช่วยให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นระหว่างการทำงานด้วย

5. ไปเที่ยวพักผ่อนกายใจ


      บางครั้ง การตัดสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างแท้จริง หมายถึงการหยุดทำงานและไปพักผ่อนสักพัก ไม่ว่าวันหยุดของคุณจะเป็นการหยุดแค่ 1 วัน หรือการท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งสัปดาห์ โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องหยุดทำงานและพักผ่อนเพื่อเติมพลังในร่างกายและจิตใจ และหยุดกังวลหรือคิดกับภาระหน้าที่ในที่ทำงาน


6. ให้เวลากับตัวเองและคนรัก


        แม้ว่างานจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ควรให้มันเป็นทั้งชีวิตของคุณ เราต่างก็เป็นปัจเจกบุคคลก่อนที่จะทำงานเสียอีก และคุณควรจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมและงานอดิเรกให้เหมาะสมให้คุณมีความสุขกับคนสำคัญในชีวิต เพราะเพียงเพราะงานทำให้คุณยุ่งไม่ได้หมายความว่าคุณควรละเลยความสัมพันธ์ส่วนตัวนะ


         การวางแผนเวลาให้กับคนที่คุณรักและครอบครัว จะทำให้คุณใช้เวลาที่มีคุณภาพกับพวกเขาได้ดีขึ้น ทำไมนะเหรอ ก็เพราะในหลาย ๆ ครั้ง เราตระหนักได้ว่า ไม่มีใครในที่ทำงานจะรักเราเท่ากับคนรักที่รัก ยอมรับ หรือชื่นชมคุณในแบบที่คุณเป็น และอย่าลืมว่า ทุกคนสามารถทดแทนกันได้ในที่ทำงาน องค์กรอาจไม่ล้มหายตายจากไปหากคุณไม่อยู่ แต่คนที่รักคุณหรือคนที่คุณรัก และครอบครัว ไม่มีใครแทนใครได้


7. กำหนดขอบเขตและเวลาทำงาน


          เพื่อหลีกเลี่ยงความเหนื่อยหน่าย เมื่อคุณออกจากที่ทำงาน คุณควรหลีกเลี่ยงการคิดเกี่ยวกับงานที่ทำหรือตรวจเช็กอีเมล์ของที่ทำงาน แยกคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับงานไว้ต่างหาก หรือไม่ก็ใช้เบราว์เซอร์ อีเมล์ หรือตัวกรองแยกกันสำหรับแพลตฟอร์มงานกับเรื่องส่วนตัวของคุณ


           นอกจากนี้ คุณควรตั้งเวลาทำงานให้ชัด ว่าจะเริ่มและหยุดทำงานเมื่อไร เพราะไม่งั้นคุณอาจพบว่า ตัวเองกำลังนั่งตอบอีเมล์เกี่ยวกับงานในตอนดึกหรือวันหยุดที่ควรจะผ่อนคลาย


8. ตั้งเป้าหมายและลำดับความสำเร็จ (และจงโฟกัสกับมัน)


        การตั้งเป้าหมายทำได้ด้วยเทคนิคการบริหารเวลา พิจารณาถึงรายการสิ่งที่ต้อง และตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป


        จงให้ความสนใจกับเวลาที่คุณทำงานและทำมันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเมื่อถึงเวลาพัก ก็ปิดกั้นตัวเองจากงานเหล่านั้น เพื่อที่จะได้พักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของคุณ เพราะหากคุณไม่แยกให้ชัดระหว่างเวลาทำงานและพัก คุณอาจทำงานในเวลาพัก นอกจากนี้ ยังจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคุณในเวลางานลดลงไปอีกด้วย


        ดังนั้น การจัดโครงสร้างชีวิตทั้งสำหรับการทำงานและใช้ชีวิตส่วนตัว จะทำให้คุณประสบความสำเร็จมากขึ้นทั้งในหน้าที่การงานและในชีวิตที่ลงตัวด้วย


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.shiftyourfuture.com/8-way-work-life-balance