รู้จัก เข้าใจ และใส่ใจโรคอัลไซเมอร์: โรคร้ายแรงทางสมองใกล้ตัว

วันที่ 21 กันยายน ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันอัลไซเมอร์โลก โดยตั้งตามชื่อของจิตแพทย์ชาวเยอรมัน อาลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) ผู้ค้นพบโรคนี้เป็นครั้งแรก เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและมีความเข้าใจต่อโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย และกระทบกับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกนี้มากขึ้น โดยปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค เพียงทราบว่า โรคนี้ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความจำ ความสามารถของสมองในด้านการคิดทีละน้อย จนในที่สุดอาจสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน รู้จัก เข้าใจ และใส่ใจโรคอัลไซเมอร์ : โรคร้ายแรงทางสมองใกล้ตัว


เข้าใจโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์เป็นภาวะเสื่อมสภาพสมองที่เกิดความผิดปกติในความจำ ความคิด และพฤติกรรม ซึ่งเกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ส่งผลให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมีปัญหา และทำให้เกิดการตายของเซลล์ประสาทในที่สุด แม้สาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน แต่อายุ พันธุกรรม และปัจจัยด้านการดำเนินชีวิต อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคซึ่งอาการมักพัฒนาอย่างช้า ๆ จนยกระดับไปถึงขั้นรุนแรง โดยอาการเด่นที่สุด คือ การสูญเสียความจำ นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นอีกที่อาจเป็นข้อสงสัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ อาทิ
- การหลงลืมที่แตกต่างจากการหลงลืมในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ถามหรือพูดซ้ำ ๆ การวางสิ่งของผิดที่ หลงทางแม้ว่าเป็นสถานที่ที่คุ้นเคย ลืมบทสนทนาหรือนัดหมาย นึกคำเรียกชื่อของสิ่งที่ต้องการพูดถึงไม่ออก หรือจนถึงขั้นลืมชื่อสมาชิกในครอบครัว
- การคิดและการใช้เหตุผลที่แย่ลง ความสามารถในการจดจ่อหรือการคิดวิเคราะห์แย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านตัวเลข เช่น อาจจ่ายเงินหรือทอนเงินผิดมากกว่าปกติ
- การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแย่ลง เช่น การแต่งกาย หรือการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ
- บุคลิกภาพและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาการที่พบได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า การหลีกหนีจากสังคม อารมณ์แปรปรวน โมโหหงุดหงิดง่าย ขาดการยับยั้งชั่งใจ


หากมีอาการเหล่านี้ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งการตรวจพบโรคที่เร็วขึ้นจะช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาที่ดีขึ้น และส่งผลดีกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง


ปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
จากการศึกษา พบว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์มีหลายด้าน และส่งผลแตกต่างกัน เช่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้โรคอัลไซเมอร์จะไม่ใช่ภาวะปกติในผู้สูงอายุ แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยพบว่าในคนอายุ 65 ถึง 74 ปี อาจพบผู้ป่วยประมาณ 4 คนต่อพันคน ขณะที่คนอายุ 85 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยสูงถึง 76 คนต่อพันคน
- ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม พบว่า หากบิดามารดาหรือพี่น้องเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเช่นกัน
- โรคประจำตัวบางชนิด พบว่า หากผู้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) จะมียีนผิดปกติที่อาจทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่พบในโรคอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพบโรคอัลไซเมอร์ได้เร็วกว่าประชากรทั่วไป 10 ถึง 20 ปี
ประวัติการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ พบว่า ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ที่มีประวัติสมองได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งความรุนแรงต่อสมองมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การนอนหลับที่ไม่เป็นเวลา หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

แนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์
แม้ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่หากเข้ารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินของโรคให้ช้าลง นอกจากนี้ การรักษาด้านสภาวะอารมณ์หรือพฤติกรรมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น


การรับมือโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์อาจทำให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดรู้สึกตกใจ เสียใจ หรือกังวลทั้งเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด การทำความเข้าใจและการวางแผนที่ดีจะสามารถช่วยรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งการรับมือในด้านสุขภาพ อาจมุ่งเน้นการรับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างระบบการดำเนินชีวิตที่เป็นระเบียบแบบแผน การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม การมีกิจกรรมที่กระตุ้นการคิดเชิงบวก และการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองทั้งในด้านร่างกายและจิตใจเช่นกัน ส่วนการรับมือด้านการเงินก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถหารายได้ได้เท่าเดิม และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาและการดำรงชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้น การวางแผนรับมือด้านการเงิน เช่น การมีความคุ้มครองโรคร้ายแรงที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และครอบคลุมถึงโรคที่เกิดขึ้นมากกับผู้สูงอายุ อย่างอัลไซเมอร์ จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินได้เช่นกัน


โรคอัลไซเมอร์ยังคงเป็นภาวะสุขภาพที่มีผลกระทบต่อระดับโลก กระทบต่อบุคคลและครอบครัวอย่างลึกซึ้ง ทั้งด้านคุณภาพชีวิตและด้านความมั่นคงทางการเงิน เราสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสนับสนุนผู้ป่วยได้โดยการเข้าใจสาเหตุของโรค อาการที่น่าสงสัย ปัจจัยเสี่ยง และแนวทางการรักษาเบื้องต้น และที่สำคัญ คือ การรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ทั้งด้านสุขภาพและการวางแผนด้านการเงินตั้งแต่ต้น จะช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว


บทความโดย ศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)


 


ข้อมูลอ้างอิง:


 


https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/alzheimers-disease/symptoms-causes/syc-20350447


 


https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9164-alzheimers-disease