การหลับ (ไม่ตื่น) ในเด็กทารก

มาค้นหาคำตอบกัน
SIDS เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน และไม่สามารถอธิบายได้ ในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี สิ่งที่ทำให้มันน่ากลัวก็คือ มันเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสัญญานบอกล่วงหน้า ต่อให้เป็นเด็กที่แข็งแรงก็เถอะ การเสียชีวิตด้วย SIDS มันเกี่ยวข้องกับการนอนหลับ (เรียกกันเล่น ๆ ว่า เตียงมรณะ) และไม่แสดงอาการใด ๆ


การนอนคว่ำ
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญก็เห็นจะเป็นการให้เด็กนอนคว่ำ มีการศึกษาหลาย ๆ ครั้งระบุว่า SIDS มีโอกาสเกิดขึ้นในเด็กที่นอนคว่ำมากกว่าเด็กที่นอนหงาย หรือนอนตะแคง นักวิจัยบางคนตั้งสมมติฐานว่า การนอนคว่ำนั้นทำให้เกิดการกดทับบริเวณของเด็ก ทำให้การไหลเวียนของอากาศแคบลง และหายใจลำบากขึ้น


อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า การนอนคว่ำ ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะหายใจเอาอากาศที่เพิ่งหายใจออกกลับเข้าไปใหม่ โดยเฉพาะในเด็กทารกที่นอนบนเตียงนิ่ม ๆ หรือมีเครื่องนอน ตุ๊กตา หรือหมอนอยู่ใกล้ ๆ ใบหน้า ด้วยพื้นผิวที่นิ่มยวบ ทำให้เกิดแอ่งเล็ก ๆ บริเวณปากของเด็ก และกักเก็บอากาศที่หายใจออกมา เมื่อเด็กหายใจเอาอากาศที่หายใจออกกลับเข้าไป ระดับออกซิเจนก็จะต่ำลง และคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะสะสมมากขึ้น ในที่สุดแล้วการขาดออกซิเจนก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิด SIDS ได้


ก็อาจจะเป็นไปได้อีกว่า เด็กทารกมีความผิดปกติในเซลล์สมองที่ช่วยในการควบคุมการหายใจ และการตื่นนอน ถ้าเด็กหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปไม่เพียงพอ สมองก็จะปลุกให้เด็กตื่น และร้องไห้ การตื่นและร้องไห้นั้นเปลี่ยนระบบการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อเป็นการชดเชยการขาดออกซิเจน แต่เด็กที่มีปัญหาในเซลล์สมองจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้


 

มานอนหงายกันเถอะ
บรรดาแพทย์เด็กและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำให้เด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ที่ร่างกายแข็งแรงดี ควรจะนอนหงาย การนอนหงาย ทำให้อัตราการเกิด SIDS นั้นลดลงกว่า 50% ทีเดียว อย่างไรก็ตาม SIDS ก็ยังคงเป็นสาเหตุหลัก ๆ ในการเสียชีวิตของเด็กทารก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรคำนึงถึงความสำคัญในการนอนหงายอยู่เสมอ


คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจกลัวว่าการให้เด็กนอนหงายจะทำให้ลูกไอและอาเจียน จากการวิจัยพบว่า การนอนหงายไม่ได้เพิ่มโอกาสที่จะทำให้เด็กไอ ยกเว้นเด็กที่มีอาการกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ (Gastroesophageal Reflux Disease ชื่อย่อว่า GERD) หรือระบบการหายใจไม่ปกติ อันนี้การนอนคว่ำอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาท่านอนที่เหมาะสม


การให้ลูกนอนตะแคง ก็ใช้ว่าจะปลอดภัยเสมอไป เนื่องจากก็มีโอกาสที่เด็กจะกลิ้งตัวกลับไปอยู่ในท่านอนคว่ำ ตอนที่กำลังหลับอยู่ก็เป็นได้


คุณพ่อคุณแม่บางท่านก็อาจกังวลในเรื่องสรีระของศีรษะว่าจะทำให้เด็กมีศีรษะแบนเนื่องจากการนอนหงาย แต่มันก็มีวิธีแก้ไขอย่างง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนท่านอนเด็กบ่อย ๆ และก็ปล่อยให้เด็กอยู่ในท่านอนคว่ำมาก ๆ เวลาเล่น


แน่นอน เมื่อเด็ก ๆ สามารถกลิ้งตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว โดยทั่วไปก็อายุประมาณ 4 - 7 เดือน พวกเขาอาจจะไม่นอนหงายตลอดคืน เมื่อถึงเวลานั้น เด็ก ๆ จะเลือกท่านอนที่เข้าล็อกของพวกเขาเอง


เคล็ดลับในการลดความเสี่ยงการเกิด SIDS
นอกจากการให้เด็กนอนหงายแล้ว ยังมีวิธีการอื่น ๆ อีกเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิด SIDS เช่น
- ให้เด็กนอนบนเตียงที่ค่อนข้างแข็งหน่อย ไม่ต้องหนุนหมอน หรือนอนบนพื้นผิวที่ไม่นุ่มยวบ เพื่อป้องกันการหายใจอากาศที่หายใจออกกลับเข้าไปใหม่ อย่านำผ้าห่มหนา ๆ ตุ๊กตา ของเล่น หรือ หมอนมาวางใกล้ ๆ ใบหน้าเด็ก
- ต้องแน่ใจว่าเด็กไม่อบอุ่นเกินไปเวลานอน ควรปรับอุณหภูมิห้องให้อยู่ที่ผู้ใหญ่สามารถสวมเสื้อแขนสั้นนอนได้ด้วยความรู้สึกสบาย ๆ เด็กที่นอนในที่ที่อบอุ่นเกินไป จะหลับลึก ทำให้ปลุกยากเมื่อจำเป็น
- ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้ยาสุ่มสี่สุ่มห้าในขณะตั้งครรภ์ และหลีกเลี่ยงลูกจากคนที่สูบบุหรี่ เด็กที่เกิดจากแม่ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิด SIDS มากกว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า การสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลังตั้งครรภ์ จะมีผลเสียต่อระบบประสาทส่วนกลางของเด็ก ซึ่งทำให้อัตราความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
- เข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัด
- พาเด็กไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ให้เด็กดื่มนมแม่ถ้าทำได้ การดื่มนมแม่อาจช่วยลดการเกิด SIDS ได้ ถึงแม้ว่ายังไม่มีเหตุผลแน่ชัดว่าทำไม แต่นมแม่ ช่วยป้องกันเด็กทารกจากการติดเชื้อบางตัวที่อาจทำให้เกิด SIDS
- ถ้าเด็กมีอาการ GERD ขอคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องของท่าการป้อนอาหาร และท่านอนที่เหมาะสม
- ให้เด็กดูดจุ๊บระหว่างขวบปีแรก ถ้าเด็กไม่ชอบดูดจุ๊บ ก็ไม่ต้องบังคับ จุ๊บนั้นลดความเสี่ยงจากการเกิด SEDS ได้
- ในขณะที่นำเด็กมานอนที่เตียงคุณพ่อคุณแม่เพื่อกล่อม เมื่อลูกหลับสนิทแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรนำเด็กกลับไปนอนที่เตียงของเขาเอง ทางที่ดีควรนำเตียงเด็กมาไว้ในห้องเดียวกับห้องที่คุณพ่อคุณแม่นอน การทำเช่นนี้ก็สามารถลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้เหมือนกัน


เตียงมรณะนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ครอบครัว ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจาก SIDS อย่าลืมนำเคล็บลับที่นำมาเสนอในครั้งนี้ไปใช้ ปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าครับ ...


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : http://www.thelittlegymrama3.com/