รู้จักโรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE อันตรายภายในจากภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง

โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันไว้คอยปกป้อง โดยทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้ามาสู่ร่างกายได้ แต่รู้หรือไม่ว่า ภูมิคุ้มกันก็สามารถหันกลับมาทำลายตัวเองได้เช่นกัน นั่นก็คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันในชื่อ “โรคพุ่มพวง” ซึ่งอาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายหลายระบบร่วมกัน และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นที่อวัยวะใด ผู้ป่วยจึงต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเองอยู่เสมอ


มาทำความรู้จักโรคภูมิแพ้ตัวเองให้มากขึ้นว่าเกิดจากอะไร อาการแพ้ภูมิตัวเองที่สังเกตได้มีอะไรบ้าง ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงแนวทางการรักษาและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ไปพร้อม ๆ กัน
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) คือโรคอะไร?


โรคแพ้ภูมิตัวเอง Systemic Lupus Erythematosus (SLE) หรือโรคลูปัส คนไทยเรียกกันว่า “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อในร่างกายของตัวเองแทนที่จะทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมภายนอกร่างกายจนเกิดการอักเสบ และทำให้มีความผิดปกติกับอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกาย เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดงตามผิวหนัง ข้ออักเสบ
โรคแพ้ภูมิตัวเองเกิดจากอะไร?


ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยร่วมกันที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ดังนี้
- พันธุกรรม หากมีญาติหรือพ่อแม่ที่เป็น โรค SLE เราก็อาจจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรค SLE มากกว่าคนทั่วไป
- ปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น แสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) ความเครียดสะสม
- ฮอร์โมนเพศหญิง การตั้งครรภ์ การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอื่น ๆ และการใช้ยา หรือสารเคมีบางชนิด

อาการแพ้ภูมิตัวเองเป็นแบบไหน?
ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE จะมีระดับความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน อาการของโรคจะเป็น ๆ หาย ๆ มีการกำเริบและสงบเป็นระยะ ซึ่งอาการทั่วไปที่พบได้บ่อยมี ดังนี้
1. มีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนังที่ได้รับแสงแดด โดยเฉพาะบริเวณจมูกและแก้ม
2. มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย
3. ผมร่วงมากขึ้น
4. มีอาการอักเสบ ปวด บวมตามข้อ
5. ไวต่อแสงแดด
6. ข้อติด แข็ง ฝืด
7. หายใจลำบาก
8. ตาแห้ง ปากแห้ง
ภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
นอกจากอาการแพ้ภูมิตัวเองแบบทั่วไปที่สามารถสังเกตได้แล้ว โรคแพ้ภูมิตัวเองยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะอื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนี้
- หัวใจและสมอง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือความจำเสื่อม
- ระบบเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อในกระแสเลือด
- ไต เกิดอาการไตอักเสบ มีปัสสาวะมีเลือดปนหรือมีฟองมากผิดปกติ
- ปอด เยื่อบุรอบปอดอักเสบ
วิธีการรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE ทำได้อย่างไร?
โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อาการสงบได้ ซึ่งวิธีการรักษาจะแบ่งตามระดับอาการ ดังนี้
- อาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาตามอาการ
- อาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้ยากดภูมิต้านทานเพื่อช่วยควบคุมโรคให้สงบ
ปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง
เนื่องจากโรคแพ้ภูมิตัวเองเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด วิธีการป้องกันจึงเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวมให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
1. ลดความเครียด
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย
4. หลีกเลี่ยงแสงแดด
5. ป้องกันการติดเชื้อ
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
7. ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
8. หลีกเลี่ยง หรือลดการสัมผัสสารเคมี


แม้โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคให้สงบลงได้ ด้วยการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันร่วมด้วย ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงของโรคร่วมหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.vimut.com/article/Systemic-lupus-Erythematosus