สวยด้วยพิษโบท็อกซ์เสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่

จัสมิน ฟ็อกซ์-สเคลลี, บีบีซีนิวส์
21 พฤษภาคม 2024


 

“โบท็อกซ์” (Botox) คือวิธีรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมทำกันทั่วไปเพื่อเสริมความงาม โดยจัดว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่นานมานี้มีรายงานว่ามันอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงถาวรที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ หากใช้ติดต่อกันในระยะยาว


โบท็อกซ์นั้นจัดว่าเป็นธุรกิจใหญ่ที่ทำเงินมหาศาล เพราะเป็นหัตถการทางการแพทย์ที่ทั้งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการทำให้ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าลบเลือนหายไป แม้บางคนจะมองว่ามันเป็นสารพิษที่ทำให้ผิวหน้าเต่งตึงแบบ “แช่แข็ง” จนไม่สามารถแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ทางสีหน้าได้อย่างถาวรก็ตาม


โบท็อกซ์นั้นเป็นชื่อทางการค้าของ “พิษโบทูลินัม” (botulinum neurotoxin) ถือเป็นหัตถการเพื่อความงามที่ทั่วโลกทำกันบ่อยครั้งที่สุด โดยประมาณการว่ามีการฉีดโบท็อกซ์กันถึงเกือบ 3 ล้านครั้งในแต่ละปี


แต่เดิมนั้นโบท็อกซ์เป็นสารสกัดจากพิษร้ายแรงที่แบคทีเรียผลิตขึ้น ซึ่งพิษนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยสกัดกั้นสัญญาณสื่อประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นอ่อนแรงและคลายตัว จนริ้วรอยเหี่ยวย่นต่าง ๆ หายไปทันที ผลที่ได้คือใบหน้าเต่งตึงดูอ่อนเยาว์ขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน


โบท็อกซ์นั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหัตถการที่มีความปลอดภัย ได้ผลชะงัด และส่วนใหญ่แล้วไม่พบผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง แต่ชื่อเสียงในทางที่ดีของโบท็อกซ์นี้จะเชื่อถือได้หรือไม่ ?


ที่ผ่านมารายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงของโบท็อกซ์นั้น พบเพียงผลข้างเคียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นชั่วคราวในระยะสั้น ซึ่งก็คืออาการเจ็บปวด บวม หรือฟกช้ำนิดหน่อยตรงบริเวณที่ฉีดโบท็อกซ์ บางคนอาจปวดศีรษะหรือมีอาการเหมือนไข้หวัดใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการฉีด แต่บางครั้งก็พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดโบท็อกซ์บางรายมีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หน้าเบี้ยว มุมปากและหางตาตกได้เช่นกัน

ตามปกติแล้วฤทธิ์ของโบท็อกซ์จะเริ่มลดลงหลังผ่านไป 3-4 เดือน และต้องมีการฉีดซ้ำ

 


ยิ่งไปกว่านั้น เพิ่งมีรายงานถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อโบท็อกซ์ที่รุนแรงเข้ามาในเดือนเมษายนของปีนี้ โดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) แจ้งเตือนว่า มีผู้หญิงวัย 25-59 ปี จำนวน 22 คน เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อโบท็อกซ์ในขั้นที่เป็นอันตรายร้ายแรง เนื่องจากได้รับผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ปลอม หรือมีการใช้อย่างผิดวิธี


11 คนในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีอยู่ 6 คนที่ต้องรับยาต้านพิษ เพราะแพทย์เกรงว่าจะเกิดภาวะโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งพิษจะแพร่กระจายออกจากบริเวณที่ฉีด จนเข้าทำลายระบบประสาทส่วนกลางและทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจลำบาก และอาจถึงเสียชีวิตได้


ผลข้างเคียงรุนแรงจากโบท็อกซ์ที่มีการรายงานเข้ามาล่าสุด รวมถึงการมองเห็นภาพเบลอและภาพซ้อน, หนังตาตก, กลืนลำบาก, พูดไม่ชัด, หายใจลำบาก, อ่อนเพลีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ทว่าผู้ป่วยทั้ง 22 คน ล้วนได้รับการฉีดโบท็อกซ์ที่ทำกันนอกสถานพยาบาล จากบุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่ได้ผ่านการฝึกฝนทางการแพทย์มาอย่างถูกต้อง


มิเชลล์ วอลเทนเบิร์ก นักระบาดวิทยาของ CDC บอกว่า “ขณะนี้ทั้ง CDC และ FDA รวมทั้งหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำลังสืบสวนกรณีของผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งต่างก็มีอาการผิดปกติหลังได้รับการฉีดโบท็อกซ์ปลอม หรือได้รับการฉีดโบท็อกซ์อย่างไม่ถูกต้อง”


เมื่อปี 2023 ผู้ป่วยภาวะโบทูลิซึม 67 คน ที่พบในสหราชอาณาจักร ล้วนได้รับการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดความอ้วนจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองอิซมีร์ ประเทศตุรกี แต่ก็น่าสงสัยว่าผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์แบบนี้จะพบได้บ่อยแค่ไหนกัน ?


แอช โมซาเฮบี ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมพลาสติก จากมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) บอกว่า “หากพิษโบทูลินัมถูกผลิตขึ้นอย่างเหมาะสม หรือเป็นยี่ห้อที่ดีเชื่อถือได้ ความแรงของพิษจะอยู่ในระดับที่...แม้จะแพร่กระจายเกินขอบเขตออกไปนิดหน่อย ก็จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงขนาดนั้น”


“ตามปกติแล้วการฉีดโบท็อกซ์จะใช้โดสที่ต่ำมาก ซึ่งสารพิษในปริมาณขนาดนั้นไม่อาจทำให้เกิดภาวะโบทูลิซึมกับคนทั่วไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเราในตอนนี้ก็คือ มีโบท็อกซ์ปลอมที่ลักลอบซื้อขายกันหมุนเวียนอยู่ในท้องตลาด มันเป็นโบท็อกซ์ที่สกัดมาไม่ดีและถูกผลิตขึ้นในระดับอุตสาหกรรมโดยไม่ได้มาตรฐาน ปราศจากการควบคุมที่เหมาะสม”

เชื่อกันว่าการฉีดโบท็อกซ์ส่วนใหญ่นั้นปลอดภัย แต่แนะนำว่าต้องทำหรือควบคุมดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณวุฒิเท่านั้น

 


โบท็อกซ์คืออะไร
โบทูลินัม นิวโรท็อกซิน (botulinum neurotoxin) หรือพิษโบทูลินัมที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เป็นสารพิษที่ร้ายแรงถึงชีวิตซึ่งแบคทีเรีย Clostridium botulinum ผลิตขึ้น โดยพิษสามารถเข้าไปในเซลล์ประสาทและจับกับถุงเล็ก ๆ ส่วนปลายที่บรรจุสารสื่อประสาท acetylcholine (Ach) ทำให้สารสื่อประสาทดังกล่าวไม่ถูกปลดปล่อยออกมา


เนื่องจาก Ach มีหน้าที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว พิษโบทูลินัมจึงทำให้กล้ามเนื้อกลายเป็นอัมพาต โดยพิษนี้มีอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด และมีชื่อตามตัวอักษรภาษาอังกฤษจาก A-G


พิษโบทูลินัมชนิด A ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุด โดยมีฤทธิ์ร้ายยิ่งกว่าพิษงูเห่าถึงล้านเท่า และมีความเป็นพิษสูงยิ่งกว่าไซยาไนด์ ดังนั้น โบท็อกซ์ที่ฉีดให้คนทั่วไป จึงทำมาจากพิษโบทูลินัมชนิด A ที่มีความบริสุทธิ์สูงและเจือจางลงมากแล้ว


แม้โบท็อกซ์ปลอมจะถือเป็นข่าวร้ายอย่างแท้จริง แต่โบท็อกซ์ของแท้นั้นมีความปลอดภัยมากแค่ไหน ? ผลการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2020 ระบุว่า ได้ประเมินทบทวนความปลอดภัยของการฉีดโบท็อกซ์เพื่อความงาม แล้วสรุปว่าการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงแบบที่พบในกรณีรายงานของ CDC นั้น เกิดขึ้นได้ยากมาก ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี 2002-2003 FDAรายงานผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้โบท็อกซ์เพื่อความงามเพียง 36 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการกลืนลำบาก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อสุขภาพจะเพิ่มขึ้นอีก 33 เท่า หากเป็นการใช้โบท็อกซ์เพื่อบำบัดรักษาโรคอื่น ๆ อย่างเช่น ปวดศีรษะไมเกรน, กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง, เหงื่อออกมากผิดปกติ, กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และตาขี้เกียจ เป็นต้น


แต่ก็น่าสงสัยว่า ชื่อเสียงเรื่องความปลอดภัยของโบท็อกซ์นั้น อาจมาจากการไม่ค่อยมีผู้รายงานผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ก็เป็นได้ โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2023 ของ ศ.โมซาเฮบี และคณะนักวิจัยจาก UCL ชี้ว่า 69% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่าตนเองได้รับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ในระยะยาวจากการฉีดโบท็อกซ์ เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ วิตกกังวล และปวดศีรษะ นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์ที่ร้ายแรงเมื่อมีการฉีดโบท็อกซ์ผิดพลาดด้วย


“ถ้าฉีดโบท็อกซ์อย่างผิดวิธี นั่นอาจทำให้คุณหนังตาตกนานถึงครึ่งปีเลยก็ได้” ศ.โมซาเฮบีกล่าว “มันอาจทำให้เกิดความอับอายเมื่อต้องปรากฏตัวในที่ทำงาน ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในตนเอง ชนิดที่จะอยู่กับคุณไปในระยะยาว”


ผลข้างเคียงระยะยา
ไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวจากการฉีดโบท็อกซ์ เนื่องจากการทดลองระดับคลินิกส่วนใหญ่ติดตามอาการของคนไข้หลังการฉีดเพียงไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม งานศึกษาวิจัยบางชิ้นพบผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกซ์เพื่อความงามติดต่อกันเป็นเวลานานว่าอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงถาวรในการแสดงสีหน้าได้ เนื่องจากไม่สามารถขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้อีกต่อไป


ผลการศึกษาทบทวนงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อปี 2022 ชี้ว่า ผู้ที่รับการฉีดโบท็อกซ์เป็นประจำ มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในองค์ประกอบ, การทำงาน และรูปลักษณ์ของกล้ามเนื้อ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังคงอยู่แม้การฉีดโบท็อกซ์ครั้งหลังสุดจะผ่านไปนานถึง 4 ปีแล้วก็ตาม


“ถ้าคุณไม่ใช้งานกล้ามเนื้อหน้าท้องนานถึง 10 ปี พวกมันก็จะสลายตัวไป” ศ.โมซาเฮบีกล่าว “เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้อที่ทำให้หน้าคุณมีรอยย่น หากไม่ได้ใช้งานหรือถูกทำให้เป็นอัมพาตเพราะโบท็อกซ์สักระยะหนึ่ง มันก็จะอ่อนแอลงจนคุณแสดงสีหน้าแบบต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่าเดิม”


นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่า พิษโบท็อกซ์อาจแพร่กระจายออกจากปลายประสาทบริเวณที่ติดกับกล้ามเนื้อ และเดินทางไปทั่วระบบประสาทส่วนกลางได้ โดยการทดลองใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีความทันสมัยสูงสุดของเฟรเดริก มิวนิเยร์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ในปี 2015 พบว่าโมเลกุลของพิษโบทูลินัมสามารถจะเดินทางด้วยความเร็วสูงไปตามแนวเซลล์ประสาทของหนูทดลองได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า โมเลกุลของพิษดังกล่าวจะถูกกักเก็บไว้ที่ถุงปลายเซลล์ประสาทก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด


“เราเห็นโมเลกุลของพิษโบทูลินัม 2- 3 ตัวเข้าสู่ปลายประสาท ก่อนจะถูกส่งไปตามแนวของใยประสาทหรือแอกซอน และเข้าสู่ส่วนถุงกักเก็บเพื่อรอให้เสื่อมสภาพ” มิวนิเยร์กล่าว


 

บท็อกซ์เป็นพิษร้ายแรงที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทซึ่งมาจากแบคทีเรีย โดยจะปิดกั้นสัญญาณสื่อประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า

 


อย่างไรก็ตาม เขาพบว่าโมเลกุลของพิษโบทูลินัมบางตัวสามารถเข้าสู่เซลล์ประสาทอื่น ๆ ที่อยู่ติดกันได้ด้วยกลไกบางอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัด “ก่อนหน้านี้มีพิษชนิดเดียวที่เรารู้ว่าสามารถทำเช่นนี้ได้ นั่นคือ พิษจากแบคทีเรียก่อโรคบาดทะยัก ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปตามแนวของเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว จนเข้าถึงกระดูกสันหลังและไปยับยั้งการสื่อประสาทที่นั่น”


แต่ถึงกระนั้นก็ตาม มิวนิเยร์เน้นย้ำว่า พิษโบทูลินัมที่ใช้ในการทดลองของเขา มีความเข้มข้นสูงกว่าที่ใช้ในการฉีดโบท็อกซ์ทั่วไปหลายเท่า “ในกรณีของมนุษย์ ผมคิดว่าการที่พิษจะแพร่กระจายไปถึงระบบประสาทส่วนกลาง และก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ขึ้นนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้”


ส่วนผลข้างเคียงทางจิตใจและอารมณ์ที่เกิดจากการฉีดโบท็อกซ์ติดต่อกันเป็นเวลานานนั้น มิตเชลล์ บริน นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ของสหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาไว้เมื่อปี 2023 โดยสแกนสมองของผู้หญิง 10 คน ทั้งช่วงก่อนและหลังการฉีดโบท็อกซ์ด้วยเครื่อง fMRI และให้พวกเธอดูภาพใบหน้าของคนกำลังยิ้มแย้ม โกรธเคือง และเฉยเมย สลับสับเปลี่ยนกันไปในระหว่างนั้นด้วย


ผลปรากฏว่าพบความเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมอง 2 ส่วน คือ ส่วนอะมิกดาลา (amygdala) และส่วน fusiform gyrus ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประมวลผลและจัดการเรื่องอารมณ์ ผลการทดลองนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งชี้ว่าผู้ที่ได้รับการฉีดโบท็อกซ์แล้วนั้น อาจสัมผัสรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นและทำความเข้าใจกับมันได้ยากขึ้นกว่าเดิม


บรินและคณะอธิบายว่า เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการที่สมองของเรารับรู้อารมณ์ของผู้อื่น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นผู้อื่นแสดงสีหน้าท่าทางสุขสดชื่น หรือเศร้าโศก เราจะเลียนแบบการแสดงออกของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว โดยใช้กล้ามเนื้อใบหน้าของเราเอง สิ่งนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจและแปลความหมายออกมาได้ว่าผู้อื่นกำลังรู้สึกเช่นไร


แต่เนื่องจากโบท็อกซ์ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าของเราเป็นอัมพาต เราจึงไม่อาจเลียนแบบสีหน้าของผู้อื่น และเกรงว่าอาจทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์น้อยลง ทว่า ในทางตรงกันข้าม สิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน เพราะโบท็อกซ์ทำให้พวกเขาไม่อาจขมวดคิ้วหรือทำหน้าบูดบึ้งหม่นหมองได้นั่นเอง


ด้วยเหตุนี้ เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกซ์ ? อันดับแรกนั้นแน่นอนว่า เราควรจะรับการฉีดโบท็อกซ์จากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาต และผ่านการฝึกฝนอบรมมาอย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องฉีดภายในสถานพยาบาลเท่านั้น


บริษัท Allergan Aesthetics ผู้ผลิตโบท็อกซ์รายหนึ่ง ระบุในแถลงการณ์ต่อบีบีซีฟิวเจอร์ว่า ผู้ใช้โบท็อกซ์ควรจะแน่ใจว่าตนเองได้รับการทำหัตถการจากบุคลากรทางการแพทย์มืออาชีพที่มีใบอนุญาตเท่านั้น
โฆษกของบริษัทแห่งนี้กล่าวเสริมว่า “เราให้ความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย ทีมงานของเราได้ตรวจสอบรายงานทั้งหมดเกี่ยวกับกรณีของปลอมอย่างละเอียด ร่วมกับหน่วยงานผู้ควบคุมและผู้บังคับใช้กฎหมาย”


“เรามีกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายที่ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จะได้คุณภาพและเป็นของแท้ ซึ่งรวมถึงมาตรการป้องกันสินค้าปลอมที่เข้มงวด”


ด้าน ศ.โมซาเฮบีนั้น เพิ่งจะทำการวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการฉีดสารเสริมความงามในสหราชอาณาจักร และพบว่า 68% ของผู้ให้บริการความงามดังกล่าว ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการฉีดโบท็อกซ์ส่วนใหญ่ ไม่ใช่แพทย์


อย่างไรก็ตาม หากได้รับการฉีดอย่างถูกวิธี เชื่อได้ว่าการใช้โบท็อกซ์ส่วนใหญ่จะมีความปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์อย่างมิวนิเยร์กล่าวสรุปว่า “มีบางคนที่เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ แต่คุณต้องพิจารณาด้วยว่า นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้คนจำนวนหลายล้านที่ได้รับการฉีดโบท็อกซ์มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990”

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bbc.com/thai/articles/cqee4vpl243o


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ : GETTY IMAGES