ถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticula) คือ โรคที่เกิดการอักเสบ นูนพอง บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง หรือผนังช่องท้องที่ไม่แข็งแรง และมีถุงเล็กๆ ขึ้นมา ส่งผลให้มีการบวม แดง เป็นฝี กลายเป็นแผลแตกได้ โดยความเสี่ยงของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบนี้ จะมาจากพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่มีใครคาดคิด เช่น การกลั้นผายลมบ่อยๆ การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีปัญหาการขับถ่ายไม่สะดวก อีกทั้งโรคนี้หากเป็นแล้วไม่สามารถหายขาดได้ ทำได้เพียงแค่รักษาบรรเทาอาการเท่านั้น
สาเหตุการเกิดโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
- อายุที่สูงขึ้น
- พันธุกรรม หรือการเป็นฝาแฝดกัน
- การสูบบุหรี่
- การใช้ยาสเตียรอยด์ การใช้ยาแก้ปวดที่ก่อให้เกิดการเสพติด รวมทั้งการใช้ยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสดติดต่อกันเป็นเวลานาน
- คนอ้วน
- ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
- ผู้ที่ไม่รับประทานผัก ผลไม้ จะไม่มีไฟเบอร์ หรือกากใยอาหารในการกระตุ้นการขับถ่าย รวมทั้งการขาดวิตามินดี
- การกลั้นการผายลม ทำให้เกิดการสะสมของแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ช่องท้องจึงเกิดการขยายตัว และเป็นสาเหตุของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบได้
อาการของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
- เป็นไข้ 38 องศาเซลเซียส และมีอาการหนาวสั่น
- ปวดท้องด้านล่างทั้งด้านซ้ายและขวาเมื่อถูกกดบริเวณนั้น
- ปวดท้องด้านล่างแบบเกร็งอย่างรุนแรง ทั้งด้านซ้ายและขวาเป็นประจำ
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องอืด
- ท้องเสีย หรือท้องผูก
- อุจจาระเป็นเลือด
การวินิจฉัยโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
- การซักประวัติอาการปวดท้องของผู้ป่วย
- การตรวจภายนอก เช่น การกดท้องว่ามีการเจ็บบริเวณส่วนไหน
- การตรวจโลหิต เพื่อหาร่องรอยการอักเสบ
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อ
- การตรวจอุจจาระ เพื่อหาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อหาความผิดปกติของลำไส้
- การวินิจฉัยภาพอวัยวะในระบบทางเดินอาหารด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
การรักษาโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
การรักษาแบบบรรเทาอาการในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อน
- การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเหลว หรืออาหารที่มีกากใยสูง ออกกำลังกาย และการขับถ่าย
- เมื่อมีอาการปวดเกร็งที่ท้อง ประคบโดยใช้ถุงน้ำร้อน
- ใช้ยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะหากเกิดการติดเชื้อ
การรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้
- การให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ
- การสอดใส่ท่อ เพื่อระบายฝีและหนองออก
- การผ่าตัดแบบ Anastomosis เพื่อนำลำไส้ส่วนที่ติดเชื้อออก และเชื่อมต่อกลับเนื้อเยื่อส่วนที่ดี
- การผ่าตัดแบบ Colostomy เป็นการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง นำลำไส้ส่วนที่ติดเชื้อออก นำเนื้อเยื่อส่วนที่ดีเชื่อมต่อกัน ทำให้เกิดแผลใหญ่บริเวณหน้าท้อง
การป้องกันโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
- การรับประทานผัก ผลไม้ รวมทั้งธัญพืชไม่ขัดสี
- ลดการรับประทานอาหารประเภทสัตว์เนื้อแดง และไขมัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ออกกำลังกาย ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป สัปดาห์ละ 3 วัน
- เลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่
- ขับถ่ายให้เป็นเวลา และหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระ หรือการสวนทวาร
- หากอยู่ในภาวะอ้วน ควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี
- ลดการใช้ยาที่ก่อให้เกิดโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
โรคถุงผนังลำไส้อักเสบมักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่วัยรุ่นอายุน้อยๆ ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้หากอยู่ในภาวะอ้วน ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องข้างเดียวแบบเกร็งอยู่บ่อยครั้ง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะถ้าหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างรุนแรง เช่น มีเลือดไหลออกจากทางทวารหนักเป็นจำนวนมาก หรือการปัสสาวะออกมาเป็นอุจจาระ เป็นต้น
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล: โรงพยาบาลเพชรเวช