แบคทีเรียในลำไส้มีปฏิสัมพันธ์กับร่างกายและจิตใจ

Hiroshi Watanabe/DigitalVision, HealthDay News

หลายคนคุ้นเคยกับความคิดที่ว่าแบคทีเรียในลำไส้มีความสำคัญต่อสุขภาพ เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่อยู่ของแบคทีเรีย เราอาจคิดว่าแบคทีเรียมีบทบาทเพียงแค่การย่อยอาหารเท่านั้น แต่มีหลักฐานมากขึ้นที่แสดงว่าจุลชีพในลำไส้ของเรามีปฏิกิริยากับจิตใจและหัวใจของเราอย่างมีนัยสำคัญ แบคทีเรียมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล และพื้นที่ของสมองที่จัดการเรื่องของอารมณ์ พื้นที่เหล่านี้แชร์วงจรของสมองที่มีผลกระทบต่อปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง
          “คนเราได้วิวัฒนาการร่วมกับแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมมาตลอด แบคทีเรียได้ปรับตัวมานานหลายยุคในบ้านที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ ผลที่ได้รับในปัจจุบัน คือ เมทาบอลิซึม เซลล์ประสาท และสรีรวิทยาทั้งหมดของเรามีการสื่อสารด้วยปฏิสัมพันธ์ต่อกันกับแบคทีเรียในร่างกายของเรา” Bruce R. Stevens ศาสตราจารย์สาขาสรีรวิทยาและเจ้าหน้าที่ของจีโนมจาก College of Medicine ที่ University of Florida เมือง Gainesville สหรัฐอเมริกา
          เขารับรู้ว่ามนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้เป็น “อภิจุลชีพ” (meta-organism) ที่มีปฏิสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว เป็นนิเวศวิทยาอันหนึ่งอันเดียวของเซลล์มนุษย์ผนวกกับเซลล์แบคทีเรีย
          ความคิดที่กล่าวว่า ลำไส้กับจิตใจมีการเชื่อมโยงกันนั้นเกิดขึ้นย้อนไปหลายศตวรรษ และมีการพูดถึงอิทธิพลของแบคทีเรียในลำไส้ต่อสุขภาพของเราในสื่อมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากมีบทความเผยแพร่จำนวนมาก ความเข้าใจต่อการเชื่อมโยงนี้ได้เติบโตอย่างมากมาย
          ตัวอย่างเช่น การศึกษาหลายชิ้นแสดงว่า การย้ายแบคทีเรียในลำไส้จากคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเข้าไปในหนูทดลองในห้องปฏิบัติการจะทำให้หนูแสดงพฤติกรรมเหมือนกับเป็นโรคซึมเศร้า การศึกษาหนูในลักษณะเดียวกันแสดงว่าแบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อความวิตกกังวล
          Dr. Kirsten Tillisch ศาสตราจารย์สาขาแพทยศาสตร์ที่ David Geffen School of Medicine แห่ง University of California ลอสแอนเจลิส ได้นำการศึกษาในปี 2013 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แสดงว่าการรับประทานอาหารที่เป็นมิตรกับแบคทีเรีย หรือโปรไบโอติก (probiotic) มีผลต่อพื้นที่ในสมองที่สัมพันธ์กับกระบวนการประมวลอารมณ์และความรู้สึกในผู้หญิงสุขภาพดีซึ่งไม่มีอาการทางจิตเภท 4 ปีต่อมา คณะทำงานของเธอเชื่อมโยงลักษณะของแบคทีเรียในลำไส้กับความแตกต่างของสมองในพื้นที่เหล่านั้น
          จุลชีพขนาดเล็กจะใช้อิทธิพลที่สำคัญดังกล่าวได้อย่างไร Prof.Steven อธิบายพื้นฐานบางอย่างในเรื่องนี้
          ประการแรก คือ แบคทีเรียในลำไส้ของเรามีจำนวนมหาศาล คือ 50 ล้านล้านขึ้นไป ซึ่งจะประมาณเท่ากับ 1 แบคทีเรียต่อแต่ละเซลล์ในร่างกายของเรา การสั่งสมจำนวนของแบคทีเรียรวมกันนี้เป็นผลมาจากหลายสิ่ง รวมทั้งอาหาร การออกกำลังกาย และอิทธิพลของวัฒนธรรม
          ประการต่อมา แบคทีเรียเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กับสมองและอวัยวะอื่น ๆ ใน 3 ทาง ประการแรก ลำไส้กับสมองสื่อสารด้วยโมเลกุลที่อยู่ในเลือด และจุลชีพมีอิทธิพลต่อข่าวสารทางเคมี (chemical messages) เหล่านี้
          จุลชีพยังมีปฏิสัมพันธ์กับระบบประสาทพิเศษของลำไส้ ที่เรียกว่า ระบบประสาทลำไส้ (enteric nervous system) มีการเชื่อมต่อโดยตรงแบบ 2 ทาง (two-way connection) กับสมองผ่านระบบประสาทส่วนกลาง
          ประการสุดท้าย ระบบภูมิคุ้มกันของผนังลำไส้และส่วนประกอบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ของร่างกายมีการตอบสนองกับจุลชีพในลำไส้ ซึ่งมีผลต่อสมองและอวัยวะต่าง ๆ
          นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าทั้งหมดนี้เชื่อมสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร คุณอาจจะได้ยินเกี่ยวกับ serotonin และdopamine ซึ่งเป็นโมเลกลุสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ที่กำกับอารมณ์และพฤติกรรมในวงจรของสมอง โมเลกุลเหล่านี้ยังพบในลำไส้ด้วย โดยความเป็นจริง Prof. Stevens บอกว่า serotonin ส่วนใหญ่ของร่างกายมาจากผนังลำไส้
          แบคทีเรียในลำไส้ยังใช้โมเลกุลนี้เพื่อส่งสัญญาณบอกระบบประสาทของลำไส้ และการเชื่อมโยงของมันโดยตรงกับสมอง ข่าวสารจากแบคทีเรียยังสามารถกระตุ้นการตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย
          กล่าวโดยสรุป คือ “ลำไส้ของเรา สมองของเรา และระบบภูมิคุ้มกันของเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน” Dr.Stevens กล่าวและบอกว่า ความสัมพันธ์เป็นรูปสามเหลี่ยมของสิ่งเหล่านี้จะควบคุมสรีรวิทยาอื่น ๆ อีกมากมายของเรา ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิต เมทาบอลิซึม หรืออารมณ์”
          นอกจากนั้น ยังเป็นการสื่อสาร 2 ทางด้วย เขากล่าว “เราใช้โมเลกุลของจุลชีพ เราใช้โมเลกุลและสรีรวิทยาของเราในลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน” สักวันหนึ่งความเข้าใจของเราเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ต่อกันเหล่านี้จะสามารถเปิดประตูไปสู่การรักษา การวินิจฉัย และการป้องกันความผิดปกติของหัวใจและจิตใจที่ดีกว่า
          สำหรับ Dr.Tillisch การเชื่อมโยงของร่างกายและสมองกับจุลินทรีย์ในลำไส้มีความสำคัญไม่เพียงสำหรับสิ่งที่จะทำในอนาคต แต่ยังสำคัญต่อสิ่งที่ใคร ๆ สามารถทำได้ในขณะนี้
          “อันที่จริงฉันอยากให้งานวิจัยทั้งหมดจนถึงปัจจุบันชี้บอกให้เราเห็นแนวความคิดพื้นฐานที่แท้จริง” ซึ่งจะเสริมกับแนวคิดที่ว่า “สิ่งที่เรารับประทานและวิถีการใช้ชีวิตของเรากำลังมีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดของเรา ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพลำไส้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพระบบประสาทของเรา”
          เธอทึ่งกับความคาดหวังที่ว่า สักวันหนึ่งความเข้าใจเรื่องแบคทีเรียในลำไส้อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมคนบางคนถึงสามารถรับประทานอาหารที่มองแล้วเหมือนจะไม่ดีต่อสุขภาพแต่ยังคงมีรูปร่างผอมอยู่ เป็นต้น แต่สำหรับในตอนนี้ เธอบอกว่า เราสามารถใช้ความรู้ของเราเพื่อทำสิ่งที่เรารู้แล้วว่าดีสำหรับตัวเรา อย่างเช่น หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
          Dr. Tillisch กล่าวว่า งานวิจัยสนับสนุนการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนีย อาหารกลุ่มนี้ประกอบด้วย ปลาและสัตว์ปีก และรวมถึงผักและผลไม้จำนวนมาก ขนมปังและธัญพืชอื่น ๆ มันฝรั่ง ถั่ว นัท และเมล็ดพืช โดยใช้น้ำมันมะกอกเป็นแหล่งไขมันหลัก
          Stevens เห็นด้วยว่า “ไม่มีโปรไบโอติกหรือแอนติไบโอติก 'ที่สามารถจัดการกับปัญหาโดยไม่มีปัญหาเกิดตามมา' แม้บางส่วนผสมของโปรไบโอติกจะให้ผลการวิจัยที่ให้ความหวังก็ตาม ถ้าคุณต้องการช่วยแบคทีเรียที่เป็น ‘ผู้ดี’ มากกว่า ‘ผู้ร้าย’
          หลักฐานการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารเหมาะสม ไขมันไม่อิ่มตัวและน้ำตาลต่ำ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตของแบคทีเรียจำเพาะชนิดนั้น ๆ”
          คนเราตื่นเต้นกับเรื่องจุลชีพ Dr.Tillisch กล่าวและว่า “เหมือนว่ามันสุดยอดมาก ๆ ทั้งหมดนี้กำลังเดินหน้าสู่การตัดสินใจทั้งหมดและกำลังเปลี่ยนแปลงสุขภาพของเรา” มันเป็นผลจากพฤติกรรมของเราจริง ไม่ว่าเราจะออกกำลังกาย ไม่ว่าเราจะรับประทาน (ยา) ไม่ว่าเราจะดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าเราจะรับประทานอย่างดีหรือไม่