ก้าวกระโดดของพัฒนาการทางการแพทย์ด้วย AI

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สร้างปรากฏการณ์มากมายในหลากหลายวงการอุตสาหกรรมของโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมทางการแพทย์ รวมทั้งเวชภัณฑ์ ยา เครื่องมือในการรักษาโรคและระบบสาธารณสุข พัฒนาการทางการแพทย์เติบโตไปอย่างก้าวกระโดด และอาจมีส่วนช่วยให้อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น AI สามารถเข้าถึงข้อมูลมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว วิเคราะห์และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แพทย์ยุคใหม่เริ่มยอมรับว่า ประโยชน์ของ AI ยังมีอีกมากมายอย่างไร้ขีดจำกัด เพียงแต่ต้องการกำกับดูแลอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดรูปแบบการทำงานที่มีความรับผิดชอบและลดความเสี่ยงในแง่ต่างๆ โดยเฉพาะด้านจริยธรรม เพื่อให้ AI เป็นเครื่องมือที่ให้คุณประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์มากกว่าลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์


ประโยชน์ของเทคโนโลยี AI ในวงการแพทย์
เทคโนโลยี AI ได้รับการประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการทางคลินิกและการดูแลรักษาโรคหลากหลายชนิด อีกทั้งยังลดต้นทุนทางการแพทย์ได้อย่างมาก ทั้งในแง่ระบบจัดการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางโรคระบาดใหม่ๆ เช่น ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่ยังเป็นปัญหาท้าทายที่ยืดเยื้อต่อประชากรโลก หลังการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน สถาบัน National Academy of Medicine (NAM) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประโยชน์หลักของ AI มี 3 ประการ ได้แก่ การพัฒนาผลการรักษาผู้ป่วยของทีมแพทย์และพยาบาลให้ดีขึ้น การลดต้นทุนด้านการรักษาพยาบาล และการเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพของประชากรโลก


ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อร้ายแรงที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นความท้าทายที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังหนักใจ ท่ามกลางปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ทั่วโลกจะขาดแคลนบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพประมาณ 18 ล้านคน ในตลาดธุรกิจด้านสุขภาพที่เติบโตไม่หยุด อันจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นวัตกรรมจากเทคโนโลยี AI จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญต่อการแก้ปัญหานี้ ควบคู่ไปกับการอาศัยระบบ IoT หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) อันเป็นเครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องป้อนข้อมูล และสามารถควบคุม รวมทั้งสื่อสารระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ กับระบบคลาวด์ เพื่อประมวลผลและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งทำให้ AI มีประสิทธิภาพในการบริการด้านการแพทย์จากการประมวลผลแบบคลาวด์ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุน


ระบบ AI มีลักษณะขับเคลื่อนแบบไดนามิกส์และเป็นอิสระ จึงมีศักยภาพในการคาดการณ์ปัญหาหรือจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้และจดจำรูปแบบและความสัมพันธ์จากชุดข้อมูลขนาดใหญ่หลายมิติและหลายรูปแบบ โดยจะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ มากขึ้น ส่วนรูปแบบการดูแลป้องกันสุขภาพ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งที่ใช้ระบบรังสีวิทยา อย่างการตรวจแมมโมแกรมหรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด สามารถใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อช่วยให้ได้ผลลัพธ์เร็วขึ้น หรือ โรคถุงน้ำในไต (PKD) นักวิจัยสามารถตรวจขนาดของไต โดยเฉพาะคุณลักษณะที่เรียกว่าปริมาตรไตทั้งหมดได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ขณะที่กระบวนนี้โดยปกติแล้วต้องใช้เวลาประมาณ 45 นาที ในการวิเคราะห์ภาพไตจำนวนมาก


ในการคาดการณ์ถึงความเสี่ยงต่อโรคของแต่ละบุคคล ปัจจุบัน AI ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่วงการแพทย์ให้การยอมรับและมีศักยภาพต่อการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพ ตัวอย่างหนึ่งของการประเมินความเสี่ยงทางด้านหทัยวิทยา เครือข่ายสถาบันสุขภาพ Mayo Clinic ในสหรัฐฯ บันทึกหลักฐานว่า AI สามารถระบุบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อภาวะที่เกี่ยวกับหัวใจหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจล้มเหลว แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะไม่มีอาการที่เห็นได้ชัดเจนก็ตาม บางโมเดลของระบบ AI อาจเตือนได้ด้วยว่า หลอดเลือดหัวใจมีแคลเซียมมากเกินไปและเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองภายใน 5 หรือ 10 ปีได้


สำหรับตัวอย่างของการพัฒนาตัวยาใหม่ๆ มหาวิทยาลัย Uppsala ในสวีเดน ยืนยันว่า AI สามารถระบุโมเลกุลที่อาจทำหน้าที่เป็นตัวยาใหม่ที่มีศักยภาพในการรักษาความผิดปกติทางสมอง เพราะ AI สามารถวิเคราะห์และทำนายความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสามมิติของโปรตีนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำขึ้น สำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจับตัวของโมเลกุลกับ receptor ที่ชื่อว่า TAAR1 ในการพัฒนายารักษาโรคจิตเภท และภาวะซึมเศร้า


AI กับความน่าเชื่อถือและความสอดคล้องทางด้านจริยธรรม
หลายคนยังสงสัยว่าระบบการแพทย์จะใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและไว้วางใจได้อย่างไร ขณะที่การใช้โซลูชั่นของ AI ในทางคลินิกตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งการยอมรับทางสังคม ผลกระทบทางด้านจริยธรรม ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในขั้นตอนการใช้งาน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงย้ำเตือนว่า องค์ประกอบสำคัญในกระบวนการทั้งหมดที่ใช้ AI ยังต้องมีมนุษย์เป็นผู้กำกับดูแลและตัดสินใจในขั้นสุดท้ายเสมอ นั่นคือ มนุษย์ยังคงต้องเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติงานที่ซับซ้อนของระบบ AI


เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2023 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ มีคำสั่งบังคับใช้กฎระเบียบการใช้และการกำกับดูแล AI ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการดูแลสุขภาพและกฎหมายที่ออกมาอย่าง The Defense Production Act ถือเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมความเสี่ยงของ AI กับการส่งเสริมนวัตกรรม AI ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ข้อบกพร่องและความผิดพลาดทางคลินิกทั้งหมดจากการใช้นวัตกรรม AI ในสถานพยาบาลต้องได้รับการบันทึกและรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล เพื่อประเมินและกำหนดแนวทางปฏิบัติเฉพาะที่สอดคล้องกับการยอมรับในแต่ละรัฐ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติยังคงพิจารณารายละเอียดของการใช้งาน AI ในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดความวิตกกังวลและความสงสัยที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย


ส่วนการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ครั้งที่ 54 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2024 นำเสนอประเด็นหลักเรื่องการประยุกต์ใช้ AI เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเรื่องการหาวิธีป้องกันความเสี่ยงจากผลที่ไม่ได้ตั้งใจจากการใช้ Generative AI อันเป็น AI สร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบอย่างอัตโนมัติด้วยการใช้ Deep Learning และอัลกอริทึมอย่าง Neural Network ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีหลายคนยอมรับว่า AI กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับวงการธุรกิจสุขภาพ แต่การเติบโตที่รวดเร็วของ Gen AI ต้องได้รับการกำกับให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุล ควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นส่วนตัวและข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย


ขณะที่สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีนเริ่มวางกฎระเบียบการใช้ AI อย่างจริงจังและรัดกุม ยังมีอีกหลายประเด็นที่ได้รับการถกเถียงในเวทีโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน ความเป็นธรรม ความเป็นส่วนตัว ความหมายของการเป็นมนุษย์ ความเป็นประชาธิปไตย และประเด็นทางด้านจริยธรรมที่ AI อาจก่อให้เกิดขึ้นได้ หลายฝ่ายเห็นพ้องกับการวางแนวทางที่ชัดเจนขึ้นเพื่อจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงจากการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ความเสมอภาคและจริยธรรม โดยครอบคลุมในด้านการรักษาพยาบาล บางกรณีการวินิจฉัยโรคในพื้นที่ที่ขาดแคลนบุคลากรและยารักษาโรค เครื่องมืออย่าง Chatbot จากระบบ Gen AI ได้รับการยอมรับว่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการลดภาระของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์


การวางรากฐานการใช้ Gen AI อย่างเหมาะสม
ขณะที่วงการแพทย์เป็นการผสมผสานระหว่างหลักการทางวิทยาศาสตร์ ความช่วยเหลือต่อมนุษยชาติ และหลักการทางด้านธุรกิจในการให้บริการ ความเข้มงวดในการวิเคราะห์ ความเห็นอกเห็นใจ และความจำเป็นทางเศรษฐกิจจึงล้วนมีความสำคัญ และต้องปรับความสมดุลของทั้ง 3 ด้านนี้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้ Gen AI เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป หน่วยงานกำกับดูแลด้านการดูแลสุขภาพต้องทำความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ ส่วนนักวิจัยและแพทย์ต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยให้ดีขึ้นและหาวิธีการรักษาที่ดีขึ้น ขณะที่บริษัทด้านการดูแลสุขภาพต้องมองหาแนวทางที่จะช่วยให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลรักษาอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในการใช้ Gen AI ในการสร้างโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เพื่อปกป้องและส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยและความเป็นอิสระ ตลอดจนการรักษาสุขภาพของประชาชน ปัจจุบันนี้ LLM ประกอบด้วยแพลตฟอร์มที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุด เช่น ChatGPT, Bard, Bert และอื่นๆ ที่มีศักยภาพสนับสนุนความต้องการด้านสุขภาพของผู้คน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความเสี่ยงในการใช้ LLM อย่างรอบคอบ เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ ในฐานะเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจ หรือเพิ่มขีดความสามารถในการวินิจฉัยในพื้นที่ที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้คนและลดความไม่เท่าเทียม


ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ Gen AI
• ข้อมูลที่ใช้ในระบบ AI อาจไม่เป็นธรรม สร้างข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกในสังคม
• LLM อาจให้คำตอบที่ดูน่าเชื่อถือแต่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือมีข้อผิดพลาดร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคำตอบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
• LLM อาจได้รับข้อมูลที่ยังไม่ผ่านความยินยอมในการใช้งานมาก่อน และ LLM อาจไม่ปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อน (รวมถึงข้อมูลด้านสุขภาพ) ที่ผู้ใช้ถ่ายทอดให้กับแอปพลิเคชันเพื่อหาคำตอบ
• LLM สามารถใช้ในทางที่ผิดเพื่อสร้างและเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนแต่ดูน่าเชื่อมากในรูปแบบของข้อความ เสียง หรือวิดีโอ ทำให้สาธารณชนแยกแยะความแตกต่างได้ยากมาก


WHO ย้ำว่า การใช้ LLM ทางด้านการแพทย์ต้องคำนึงถึงความโปร่งใส การส่งเสริมความเป็นมนุษย์ การไม่แบ่งแยก การมีส่วนร่วมของสาธารณชนภายใต้การกำกับดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการประเมินผลที่เข้มงวด การนำระบบที่ยังไม่ผ่านการทดสอบมาใช้อย่างเร่งรีบอาจนำไปสู่ข้อผิดพลาด และเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย จึงถือเป็นการทำลายความเชื่อถือของเทคโนโลยี AI แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคือ แนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง AI กับมนุษย์ เพื่อเติมเต็มช่องว่าง ลดข้อผิดพลาดที่จะตามมา ภายใต้การร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้การปฏิบัติงานของ AI สอดคล้องกับจริยธรรมอันเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม ส่วนบทบาทและความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในแต่ละขั้นตอนจะได้รับการระบุอย่างชัดเจน และสุดท้าย ส่วนสำคัญที่สุดคือ ประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Gen AI ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีผลต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

ข้อมูล :


https://www.who.int/news/item/16-05-2023-who-calls-for-safe-and-ethical-ai-for-health


https://www.weforum.org/agenda/2024/01/ai-in-healthcare-buckle-up-for-big-change-but-read-this-before-takeoff/


https://www.nature.com/articles/d41586-023-03302-0


https://mcpress.mayoclinic.org/healthy-aging/ai-in-healthcare-the-future-of-patient-care-and-health-management/


 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8285156/