กินก่อนนอนอาจทำน้ำหนักตัวเพิ่ม

Steven Reinberg, HealthDay News

การศึกษาครั้งใหม่รายงานว่า คนที่รับประทานอาหารมื้อเย็นตอนดึกแล้วเข้านอนให้พึงระวัง พฤติกรรมเช่นนี้อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่หลับอยู่
          การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะเมทาบอลิซึมจะทำงานช้า มีน้ำตาลในเลือดและสารเคมีอื่น ๆ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งมีผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและเกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 นักวิจัยกล่าว
          “ไม่ใช่เฉพาะแค่สิ่งที่คุณรับประทาน แต่ช่วงเวลาที่คุณรับประทานอาหารยังอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมภาวะโรคอ้วนด้วย” Dr. Jonathan Jun รองศาสตราจารย์สาขาการแพทย์ที่ Johns Hopkins University ในบัลติมอร์ ผู้เขียนรายงานการศึกษากล่าว
          “คุณอาจรับประทานอาหารที่มีจำนวนแคลอรีเท่ากันในช่วงระยะ 24 ชั่วโมง แต่ร่างกายของคุณจะจัดการกับแคลอรีเหล่านี้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเวลาที่เราเลือกรับประทานอาหาร”
          ในการศึกษาครั้งนี้ คณะทำงานของ Dr.June ได้ให้อาสาสมัครที่สุขภาพดี 20 คน รับประทานอาหารมื้อเย็นเหมือนกันตอนเวลา 18.00 น. หรือ 22.00 น. ทั้ง 2 กลุ่มเข้านอนเวลา 23.00 น. ตื่นนอนเวลา 07.00 น.
          ก่อนการศึกษา ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้สวมเครื่องติดตามกิจกรรม (activity tracker) และในระหว่างการศึกษามีการเก็บตัวอย่างเลือดทุกชั่วโมงและดำเนินการศึกษาการนอนหลับด้วย อาสาสมัครยังมีการสแกนไขมันของร่างกายและรับประทานอาหารที่มีสารประกอบซึ่งช่วยให้คณะผู้วิจัยติดตามการเผาผลาญไขมันได้
          ผลสรุป คือ ผู้ที่รับประทานอาหารมื้อเย็นในเวลาดึกมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเผาผลาญไขมันน้อยลง
          การศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุดหลังอาหารมื้อเย็นตอนดึกจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 18 และปริมาณไขมันที่ถูกเผาผลาญต่ำลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารมื้อเย็นในเวลาที่เร็วกว่า
          ผลดังกล่าวอาจจะปรากฏมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว Dr.Jun กล่าว
          ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณรับประทานมื้อเย็นตอน 22.00 น. แต่เข้านอนตอนตี 3 กระบวนการในทางชีวภาพจะเหมือนกับการรับประทานมื้อเย็นตอน 18.00 น. และเข้านอนตอน 23.00 น. หรือไม่
          Dr.Jun ยังกล่าวอีกว่า ผลของการรับประทานและการนอนอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับเมทาบอลิซึมหรือนาฬิกาชีวิตส่วนบุคคล
          “แทนที่จะยึดว่าเวลาไหนที่ดึกไปหรือเวลาไหนบนหน้าปัดนาฬิกาที่จะเริ่มหรือหยุดรับประทานอาหาร เราจำเป็นต้องตระหนักว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล” เขากล่าว
          Dr.Jun บอกว่า เขาหวังว่าจะเรียนรู้มากขึ้นจากการศึกษาในอนาคต
          Samantha Heller นักโภชนาการคลินิกอาวุโสที่ NYU Langone Health ในนครนิวยอร์ก ได้ทบทวนผลการค้นพบหลายชิ้น กล่าวในเรื่องนี้ว่า “เป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่การรับประทานอาหารใกล้เวลาเข้านอนจะเปลี่ยนแปลงเมทาบอลิซึมของกลูโคสและไขมัน เพราะคุณกำลังนอนและไม่มีการออกกำลังกาย”
          เธอบอกเพิ่มเติมว่า การนอนมีกระบวนการของมันเองที่เกี่ยวข้องกับเมทาบอลิซึมของเซลล์และโมเลกุลเพื่อช่วยให้ร่างกายยังคงมีสุขภาพดี
          Heller บอกว่า คนเรามักติดอยู่กับการรับประทานอะไรก่อนอาหารมื้อเย็น การรับประทานอาหารมื้อเย็น และการรับประทานของขบเคี้ยวจนถึงเวลานอนเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งหมายความว่าเรารับประทานเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง
          “นั่นเป็นวิธีง่าย ๆ ในการเพิ่มน้ำหนักตัว” เธอกล่าวและบอกว่า “เรารับประทานอาหารตอนกลางคืนด้วยเหตุผลหลายประการ รวมทั้งความเครียด ความเบื่อหน่าย และความโกรธ”
          เพื่อช่วยจัดการกับการขบเคี้ยวตอนกลางคืน Heller แนะนำให้วางแผนรับประทานของขบเคี้ยวตอนบ่าย อย่างเช่น ฮัมมูส และแคร์รอต ดังนั้น คุณจะไม่หิวก่อนเวลาอาหารเย็น และมีความสุขกับอาหารเย็นที่สมดุลมีพืชผักมากขึ้น แล้วจึงปิดห้องครัว
          “วางแผนทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายในเวลาที่คุณถูกกระตุ้นให้คว้าของขบเคี้ยวมารับประทาน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะหิวเพราะคุณรับประทานอาหารมื้อเย็นแล้ว” Heller กล่าว
          “ประเมินว่าอะไรกระตุ้นให้เข้าไปในห้องครัวและทำแผนแก้เกมเพื่อจัดการเรื่องนี้”
          ใช้กลยุทธ์บางอย่าง เช่น ดื่มน้ำหรือชาสมุนไพร 1 แก้ว หรือหันไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การอ่านหนังสือ เดินเล่น หรือฟังดนตรีหรือหนังสือเสียง
          “ปิดห้องครัวหลังอาหารมื้อเย็นเป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะลดน้ำหนักและเข้านอนในเวลากลางคืนได้ดีกว่า”
          มีการเผยแพร่ผลการค้นพบนี้ใน Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism
          *ฮัมมูส (Hummus) เป็นเครื่องจิ้มสไตล์ตะวันออกกลาง มีส่วนประกอบหลักเป็นถั่วลูกไก่ (Chickpea) ที่มากด้วยคุณค่าทางอาหาร ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว กระเทียม งาบด (tahini) และเกลือ