ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เสี่ยงเกิดฟันผุ โรคเหงือก และปัญหาสุขภาพช่องปาก

เจนีวา--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

- ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่คือความผิดปกติของใบหน้าและช่องปากแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของช่องปาก เหงือก และเพดานปาก
- การดูแลสุขภาพฟันอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นประจำ ควรเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพช่องปากและป้องกันโรคในช่องปาก
- สหพันธ์ทันตแพทย์โลก(FDI World Dental Federation: FDI) จับมือกับSmile Train เผยแพร่คู่มือฉบับใหม่ “Oral Health in Comprehensive Cleft Care” เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับสุขภาพช่องปาก
          ทุก ๆ 3 นาทีจะมีเด็กที่เกิดมาพร้อมภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ทั่วโลก เด็กเหล่านี้ประสบความยากลำบากในการรับประทานอาหาร การหายใจ การได้ยิน และการพูด ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดรักษาแล้ว เด็กเหล่านี้ก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดฟันผุ โรคเหงือก และปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ
          เจ้าหน้าที่จากหลากหลายสาขาที่มีหน้าที่ดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและสุขภาวะโดยรวมของเด็กเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง FDI และ Smile Train จึงผนึกกำลังกันโดยได้รับการสนับสนุนจาก GSK Consumer Healthcare เพื่อเผยแพร่คู่มือสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพช่องปากและเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดยมีเป้าหมายในการช่วยลดโรคในช่องปากและยกระดับสุขภาพช่องปากของเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่

          การดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ต้องอาศัยการพยาบาลเฉพาะทาง ศัลยกรรมพลาสติก ทันตกรรมเด็ก การแก้ไขการพูด และทันตกรรมจัดฟัน โดยเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยยกระดับสุขภาพช่องปากของคนไข้ด้วยการทำตามแนวทางปฏิบัติที่ตกลงร่วมกัน เพื่อให้การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ในสาขาต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
          “เด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ต้องทนทุกข์อย่างสาหัสจากโรคในช่องปาก ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสุขภาวะโดยรวมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาวด้วย” Dr. Gerhard K. Seeberger ประธาน FDI กล่าว “การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เพื่อช่วยป้องกันโรคในช่องปากถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก FDI จึงยินดีที่ได้เผยแพร่คู่มือฉบับนี้ และหวังว่าจะช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการดูแลคนไข้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง”
          “เราตั้งเป้าผนวกการดูแลสุขภาพช่องปากเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่” Susannah Schaefer ประธานและซีอีโอของ Smile Train กล่าว “การดูแลสุขภาพฟันเป็นประจำจะช่วยควบคุมความเสี่ยงในการเกิดโรคในช่องปากในเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการด้านสุขภาพและผู้ดูแลจำเป็นต้องสังเกตสัญญาณของโรคในช่องปากและรู้จักวิธีป้องกัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
          “GSK ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพช่องปากที่ดีของทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่” Jayant Singh ผู้อำนวยการด้านสุขภาพช่องปากของ GSK กล่าว “การดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่อย่างครอบคลุมเป็นหัวใจสำคัญของการสนับสนุน Smile Train และ FDI เรายินดีอย่างยิ่งกับการเผยแพร่คู่มือฉบับใหม่ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ทั้งหมด”