กระทรวงสาธารณสุขยึดหลักผู้เสพติดคือผู้ป่วย ปรับระบบการทำงานในสถานการณ์โควิด-19 เชื่อมโยงการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติด ใช้ชุมชนเป็นโรงพยาบาล ใช้บ้านเป็นเตียงผู้ป่วย ผู้นำชุมชนและ อสม. เป็นแพทย์และพยาบาล เร่งสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน ใช้เทคโนโลยี ปรับระบบบริการให้ผู้ป่วย/ผู้ติดยาเข้าถึงการแพทย์วิถีใหม่ ลดการเดินทาง ลดความแออัด ลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวบรรยายพิเศษ นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดในยุค COVID ในการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ปี 2563 ซึ่งจัดโดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ โดยมีผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศร่วมประชุม
ในการประชุม นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้การสาธารณสุขนำ เพื่อลดอันตราย ผลกระทบทั้งต่อตัวผู้เสพ ครอบครัว และสังคม ยึดหลักผู้เสพติดคือผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม เชื่อมโยงการทำงานบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เน้นการค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อนำเข้าสู่ระบบการบำบัดแบบสมัครใจ ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือ บำบัดฟื้นฟู ทางกาย จิต สังคม อย่างต่อเนื่อง และติดตามดูแลเมื่อกลับสู่ชุมชน เพื่อป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ หลุดพ้นจากวงจรอันตรายของยาเสพติด ที่คาดประมาณว่ามีผู้เริ่มใช้ยาเสพและผู้ติดยามากกว่า 2 ล้านคน ส่งผลให้เกิดโรคติดต่อ โรคทางจิตเวช โดนไล่ออกจากงาน ตกงาน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคม ก่อคดีอาญา เมื่อออกจากเรือนจำ กลับไปใช้ยาและก่อคดีรุนแรงขึ้นวนเวียนเป็นวงจร
สำหรับกรอบแนวคิดการดำเนินงานด้านยาเสพติด ประกอบด้วย การป้องกันการเสพ โดยการสร้างความรอบรู้ประชาชนให้เท่าทันไม่ใช้ยาเสพติด นำเทคโนโลยีมาใช้ปรับระบบการทำงาน ปรับระบบบริการให้ผู้ป่วย/ผู้ติดยาเข้าถึงการแพทย์วิถีใหม่ เช่น การให้คำปรึกษาออนไลน์ มีระบบสาธารณสุขและการช่วยเหลือด้านสังคมที่สนับสนุนการบำบัดรักษา ที่สำคัญคือ การใช้ชุมชนเป็นโรงพยาบาล ใช้บ้านเป็นเตียงนอนผู้ป่วย ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในชุมชนคือแพทย์และพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์เป็นที่ปรึกษา สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ดูแลกันเองได้ตามบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ต้องลดการเดินทาง ลดความแออัด ลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล ปัจจุบันมี อสม. ที่ผ่านการอบรมเป็น อสม. ด้านยาเสพติดบูรณาการแล้ว 14,763 คน ในปี 2564 จะอบรมเพิ่มให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เป้าหมาย 5,542 หมู่บ้าน