อย. แจง ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินซี ต้องมีปริมาณตรงตามที่แจ้งและแสดงบนฉลาก รวมถึงสามารถคงปริมาณตลอดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ หากตรวจพบไม่ตรงตามที่แจ้ง พร้อมดำเนินการทางกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ แนะผู้บริโภคกินผักผลไม้ให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยแพร่ผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซีที่จำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 47 ตัวอย่าง พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามฉลาก และตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ในการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเติมสารอาหารในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งได้กำหนดปริมาณสูงสุดของการเติมวิตามินที่ละลายได้ในน้ำไว้ที่ 200% ของ Thai RDI สำหรับปริมาณวิตามินซี คือ ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ อย. ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ สถานที่ผลิต และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยี่ห้อที่เป็นข่าว รวมทั้งประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ที่มีสถานที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว เนื่องจากเครื่องดื่มผสมวิตามินซีเป็นอาหารที่ อย. ได้มอบให้จังหวัดมีอำนาจอนุญาตและตรวจสอบสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เมื่อผลการตรวจพบปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แสดงไว้บนฉลาก จัดเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และหากผลการตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี แต่ฉลากระบุว่ามีวิตามินซี จะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท แต่หากพบปริมาณวิตามินซีมากเกินกว่า 200% ของ Thai RDI (120 มิลลิกรัมต่อวัน) อย. จะแจ้งผู้ประกอบการยื่นหลักฐานการศึกษาการคงสภาพวิตามินซีตลอดอายุการเก็บรักษามาประกอบการพิจารณา หากพบว่าปริมาณวิตามินซีอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทอย่างเข้มงวดตลอดมา โดยดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตอาหาร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาวิตามินและแร่ธาตุในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขณะนี้มี 3 รายการ อยู่ระหว่างรอผลการตรวจวิเคราะห์
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการขออนุญาต ผู้ประกอบการต้องให้คำรับรองว่า ผลิตภัณฑ์ที่มาขออนุญาตกับ อย. มีปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งและแสดงบนฉลาก รวมถึงคงปริมาณตลอดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่วัน เดือน ปีที่ผลิต จนถึงวัน เดือน ปีที่ควรบริโภคก่อน อย่างไรก็ตาม วิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสภาวะที่เหมาะสมในการเก็บรักษา เพื่อคงปริมาณของวิตามินในผลิตภัณฑ์ ในส่วนของผู้บริโภค การดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินซี เป็นเพียงทางเลือกในการเสริมสารอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณสารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคผักและผลไม้ที่หลากหลายและในปริมาณที่พอเหมาะ รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ การรับประทานวิตามินซีปริมาณสูงเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตได้