ยาเบาหวานมีโอกาสรักษาและฟื้นฟูหัวใจล้มเหลวให้หาย

Kimberly Darke, Medicalnewstoday

          การศึกษาที่เผยแพร่ใหม่พบว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวซึ่งได้รับยารักษาโรคเบาหวาน empagliflozin มีการปรับโครงสร้างและการทำหน้าที่ของหัวใจที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และหลายคนยังหายจากโรคอีกด้วย
          หัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่ หายใจสั้น หายใจลำบาก อาการอ่อนแรงและเหนื่อย และน้ำหนักเพิ่มและบวมที่ขา ข้อเท้า เท้า หรือท้อง
          อาการอาจพัฒนาไปสู่โรคหัวใจล้มเหลวได้ เนื่องจากเกิดการสะสมของของเหลวในปอด ตับ และปลายขา
          ปัจจุบันโรคหัวใจล้มเหลวมีผลกระทบต่อผู้ป่วยเกือบ 23 ล้านคนทั่วโลก
          สาเหตุของโรคหัวใจล้มเหลว ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคลิ้นหัวใจ และโรคเบาหวาน เมื่อเวลาผ่านไปโรคต่าง ๆ เหล่านี้อาจส่งผลให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์” ซึ่งเป็นความพยายามของหัวใจที่จะชดเชยภาระงานที่เพิ่มขึ้นโดยการขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ผนังหนาตัวขึ้น และปั๊มเลือดถี่มากขึ้น
          ในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ประมาณร้อยละ 50 มีหัวใจล้มเหลวที่เกิดร่วมกับการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายล่างลดลง (heart failure with reduced ejection fraction: HFrEF) การบีบตัวที่ลดลงของหัวใจห้องล่างเกิดขึ้นเมื่อหัวใจด้านซ้ายไม่สามารถปั๊มเลือดได้อย่างมีประสิทธิผล ลดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจห้องซ้ายเพื่อไปหมุนเวียนในร่างกายหลังจากการหดตัวแต่ละครั้ง
          ทางเลือกในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ลดปริมาณโซเดียมในอาหาร บริโภคของเหลวให้น้อยลง และเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับปานกลาง เลิกสูบบุหรี่ และรับอาหารที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
          เนื่องจากมีทางเลือกอยู่จำกัดในการรักษาหัวใจล้มเหลว คณะผู้วิจัยจาก Icahn School of Medicine ที่ Mount Sinai จึงทำการทดลองทางคลินิกที่เรียกว่า EMPATROPISM เพื่อวิจัยการใช้ empagliflozin ยารักษาโรคเบาหวาน เพื่อรักษา HFrEF ในผู้ป่วยที่ไม่มีโรคเบาหวาน
          คณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลการทดลองต่อ American Heart Association (AHA) Scientific Sessions 2020 โดยมีรายงานก่อนตรวจพิจารณาเผยแพร่ใน Journal of the American College of Cardiology
          ในการศึกษาเชิงสุ่มซึ่งควบคุมด้วยยาหลอกแบบปิด 2 ด้าน ได้แบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษา 84 คน อายุ 18–85 ปี เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับยา empagliflozin 10 mg ทุกวัน และอีกกลุ่มได้รับยาหลอก
          ณ ตอนเริ่มต้นการทดลอง ผู้เข้าร่วมการศึกษาทุกคนได้รับการประเมิน โดยครอบคลุมทั้งการตรวจ MRI หัวใจ ทดสอบการเดิน 6 นาที และทดสอบการบริหารปอดและหัวใจเพื่อดูระดับออกซิเจน และให้กรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตด้วย
          หลังจากได้รับยาหลอก หรือยา empagliflozin เป็นเวลา 6 เดือน ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้เข้าทดสอบแบบเดิมอีกครั้ง
          คณะผู้วิจัยพบว่า ประมาณร้อยละ 80 ของผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับยาแสดงให้เห็นว่า มีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายดีขึ้นร้อยละ 16.6
          ผู้ป่วยยังมีขนาดและความหนาของหัวใจลดลง และรู้สึกแน่นหน้าอกน้อยลง แสดงว่า โรคหัวใจล้มเหลวลดความรุนแรงลง
          ที่น่าสนใจมาก คือ นักวิจัยกล่าวว่า หัวใจได้กลับมาเกือบจะปกติในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้
          นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับยา empagliflozin ยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง และมีระดับการออกกำลังกายและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วหลังเริ่มการใช้ยา
          แม้ยา empagliflozin จะเป็นยารักษาโรคเบาหวาน แต่นักวิจัยให้ข้อสังเกตว่า ไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับน้ำตาล เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้เข้าร่วมการศึกษา แม้จะไม่เป็นโรคเบาหวานก็ตาม
          ตรงกันข้าม ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ใช้ยาหลอกไม่มีอาการดีขึ้น อาการต่าง ๆ ยังเหมือนเดิมหรือแย่ลง การบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายล่างยังลดลงต่อเนื่อง ขนาดและความหนาของหัวใจเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติในรูปร่างโดยรวมของหัวใจ
          คณะผู้วิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษายังอธิบายเหตุผลว่าทำไมยาชนิดนี้ถึงมีผลต่อการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว กล่าวคือ ยาช่วยแก้ไขกระบวนการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหัวใจพยายามเปลี่ยนโครงสร้างของมันเองเพื่อชดเชยการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับอาการเรื้อรังอื่น ๆ
          ในการทดลอง EMPEROR-Reduced trial ซึ่งเป็นการศึกษาก่อนหน้านี้เล็กน้อยและมีการเผยแพร่ใน New England Journal of Medicine ได้พบผลลัพธ์ที่เหมือนกัน โดยเป็นการทดลองแบบปิดสองด้านกับ ผู้เข้าร่วมการศึกษา 3,730 คน ซึ่งมีภาวะการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายล่างลดลง ได้รับยา empagliflozind (10 mg วันละครั้ง) หรือยาหลอก นอกเหนือจากการรักษาตามคำแนะนำ
          ผลที่ได้รับสอดคล้องกับผลการค้นพบของโครงการ EMPATROPISM ซึ่งแสดงว่า ผู้ที่เป็นหรือไม่เป็นโรคเบาหวานซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ใช้ยา empagliflozin มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจล้มเหลวต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มยาหลอก
          Carlos Santos-Gallego ผู้เขียนรายงานคนที่ 1 ของ EMPATROPISM study ซึ่งเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ Icahn School of Medicine อธิบายการนำผลการค้นพบไปใช้ว่า
          “ผลที่ให้ความหวังจากการทดลองทางคลินิกของเราครั้งนี้ แสดงว่า ยารักษาโรคเบาหวานสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่เกิดร่วมกับการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายล่างลดลงมีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยเสริมความสามารถในการบริหารร่างกาย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น โดยมีผลข้างเคียงน้อยมากหรือไม่มีเลย
          “เราคาดว่าผลงานชิ้นนี้จะช่วยให้ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาให้ใช้ยา empagliflozin เพื่อประชากรผู้ป่วยเหล่านี้ในอีกไม่กี่เดือนนี้”