มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยรณรงค์ “โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรค IPD และโรคปอดบวม: SAFE THAI FIGHT IPD” เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 5” เพื่อจัดหาวัคซีน IPD หรือโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ขาดโอกาสได้เข้าถึงวัคซีน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็กและผู้ใหญ่ และโรคอื่น ๆ ที่คุกคามชีวิตเด็กเล็ก เน้นส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันโรค IPD และโรคปอดบวม โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 พร้อมเดินหน้าผลักดันวัคซีนที่จำเป็นเข้าโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย ขณะที่กรุงเทพฯ เตรียมแผนรุกทำราคาวัคซีน IPD ให้ถูกลงนำร่องจัดฉีดฟรี
รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรรมการและประชาสัมพันธ์ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวในนามของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ว่า “โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรค IPD และโรคปอดบวม: SAFE THAI FIGHT IPD” เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 5” เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีแล้ว โดยยึดมั่นอยู่ในวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อทำการจัดสรร กระจาย ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรค IPD (Invasive Pnerumococcal Disease) หรือโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบในเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงวัคซีนนี้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญในการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคปอดบวมหรือโรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญ โดยในแต่ละปีมีประชากรเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบถึงปีละกว่า 2.5 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตกว่าปีละ 600,000 คน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้มีการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ องค์การอนามัยโลกประมาณว่า จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1.9 ล้านคน ดังนั้น สถานการณ์นี้จึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ประชาชนทั่วไปจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันรณรงค์เพื่อป้องกันทั้งโรค IPD และโรคปอดบวม
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า IPD มาจาก Invasive Pneumococcal Disease คือ โรคอะไรก็ตามที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (pneumococcus) รุกล้ำเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเกิดโรคที่รุนแรง ปกติพบเชื้อชนิดนี้เกาะอยู่ที่ลำคอ (ทางเดินหายใจส่วนต้น) รอจังหวะที่จะเข้าสู่ร่างกาย ในเด็กไทยปกติพบเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 โดยพบมากที่สุดในเด็กทารกและเด็กเล็กช่วงอายุ 2-3 ปี ส่วนในผู้ใหญ่พบน้อยกว่า เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อนี้จะรุกล้ำเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงที่เราเรียกว่า “IPD” ถ้าเชื้อแพร่เข้าไปสู่สมองจะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการ ไข้สูง ชัก ซึมมาก อาเจียนบ่อย ปวดศีรษะรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ถ้าแพร่ไปที่เลือดจะเกิดโลหิตเป็นพิษ หรือโลหิตติดเชื้อ (การติดเชื้อในกระแสเลือด) เด็กจะมีอาการไข้สูง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ถ้าแพร่ไปที่ปอดจะทำให้เกิดปอดบวมหรือปอดอักเสบ เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย ปัจจัยที่ทำให้เชื้อนิวโมคอคคัสเข้าสู่ร่างกายได้ คือ ต้องมีการติดเชื้อชนิดอื่นนำมาก่อน เช่น เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือมีการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ หรือไม่สบายและร่างกายอ่อนแอมาก เชื้อที่เกาะอยู่ที่คอจะเริ่มรุกล้ำเข้าสู่ร่างกาย ทำให้กลายเป็นโรค IPD ซึ่งจะมีความรุนแรงเพียงไรขึ้นอยู่กับแต่ละคน คนที่ร่างกายแข็งแรงอาจจะรุนแรงไม่มาก แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ เช่น ในเด็กเล็กจะมีอาการรุนแรงมาก
ในปีนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งเชื้อโควิด-19 นี้ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมที่รุนแรงมาก ขณะที่เชื้อนิวโมคอคคัสรอจังหวะอยู่ ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 เชื้อนิวโมคอคคัสจะซ้ำเติมเข้าไปและทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น และโดยปกติโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดใหญ่ประมาณ 5 ถึง 10 เท่า จนทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อมามีเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำเติมเข้าไป อาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“สำหรับโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) และโรคปอดอักเสบจากโควิด-19 ที่สังคมให้ความสนใจกันอยู่ มีความเหมือนและความแตกต่างกันในหลายประการ ส่วนที่ทั้ง 2 โรคนี้มีความคล้ายคลึงกัน คือ มีการแพร่กระจายโรคผ่านทางการไอและจาม ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย หากต้องการทราบแน่ชัดว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด ควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังเป็นโรคที่อาจมีความรุนแรงได้ โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะออกซิเจนต่ำได้ร้อยละ 14 และผู้ป่วยโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อในกระแสเลือดได้ถึงร้อยละ 20”
“แต่ที่ทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างกัน คือ กลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ สำหรับโควิด-19 มักพบผู้ป่วยในช่วงอายุระหว่าง 15-49 ปี (ร้อยละ 55.1%) แต่สำหรับโรค IPD กลุ่มเสี่ยงสูง คือ เด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี), เด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคไต เป็นต้น), ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ โควิด-19 ยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง หรือยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่โรค IPD มียารักษาและวัคซีนป้องกันแล้ว”
สำหรับเด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี) เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อโรค IPD และจะมีอาการรุนแรงมาก เนื่องจากเด็กยังเล็กอยู่ มีภูมิคุ้มกันต่าง ๆ น้อย เชื้อจะสามารถรุกล้ำได้ แต่สำหรับในผู้ใหญ่ จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เกิดในเด็กได้น้อยกว่า โดยมักจะเกิดในกรณีที่เชื้อซึ่งเกาะอยู่ที่คอลงไปที่ปอดมากกว่าจะไปที่เยื่อหุ้มสมอง ดังนั้น วัคซีนชนิดเดียวกันซึ่งในเด็กเรียกว่า วัคซีนโรค IPD ในผู้ใหญ่จะเรียกว่า วัคซีนปอดอักเสบ การทำงานของวัคซีนจะเหมือนกัน
สำหรับวิธีการป้องกันและดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากทั้งโรค IPD และปอดอักเสบ ส่วนที่ทำได้ดีที่สุด คือ สุขอนามัยส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจในการป้องกันโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ช่วยทำให้โรคลดลงได้ และความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกภาคส่วน ทำให้เรามีความสำเร็จในการป้องกัน
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ในโรค IPD ตัวนำของโรคนี้จริง ๆ คือ ไข้หวัดทั้งหลาย และในเวลานี้มีวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้หวัดเพียงอย่างเดียว คือ ไข้หวัดใหญ่ และในอนาคตอันใกล้อาจจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพราะฉะนั้น การป้องกันที่สำคัญ คือ ป้องกันตรงไข้หวัดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ประการที่ 2 คือ ใช้วัคซีนป้องกัน ที่เรียกว่าวัคซีน IPD ในเด็ก หรือวัคซีนป้องกันปอดอักเสบในผู้ใหญ่ เป็นตัวรองรับอีกชั้นหนึ่ง จะช่วยให้สามารถป้องกันโรคได้ครบวงจร
จำนวนวัคซีนที่จะฉีดป้องกันโรค IPD และปอดบวม สำหรับเด็กกับผู้ใหญ่จะแตกต่างกัน ในเด็กต้องฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และ 18 เดือน รวม 4 เข็ม และจากการพยายามศึกษา พบว่า การฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และฉีดอีกครั้งตอนอายุ 15 ถึง 18 เดือน รวม 3 เข็ม จะได้ผลเท่า ๆ กัน เพราะฉะนั้นจะสามารถลดลงได้ 1 เข็ม ขณะที่ผู้ใหญ่ฉีดเพียงเข็มเดียวเท่านั้น เหตุผลที่เด็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากในเด็กการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสู้ในผู้ใหญ่ไม่ได้ ผู้ใหญ่จึงฉีดเพียงเข็มเดียว โรงพยาบาลรัฐเกือบทุกแห่งมีวัคซีนนี้ และราคาไม่แพง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนมีเกือบทุกแห่ง แต่ราคาแพงกว่า
สำหรับประเด็นที่ว่า เมื่อฉีดครบแล้วยังมีโอกาสเสี่ยงอีกหรือไม่ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า วัคซีน IPD กับวัคซีนปอดอักเสบ เป็นเทคโนโลยีรุ่นที่ 2 ในรุ่นแรกจะเอาเชื้อแบคทีเรียมาฆ่าให้ตายแล้วฉีดเข้าร่างกาย พบว่าในเด็กเล็กไม่ได้ผล ต้องใช้ในเด็กโต แต่เมื่อนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ทำให้ใช้ในเด็กเล็กได้ ซึ่งเป็นข้อดีข้อที่ 1 ข้อดีประการที่ 2 คือ ลดการเกาะของเชื้อที่คอ เพราะมีภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเดินทางไปที่คอและจัดการกับเชื้อสายพันธุ์เดียวกับที่อยู่ในวัคซีน เมื่อเชื้อไม่เกาะที่คอ จึงไม่แพร่ไปสู่คนอื่นต่อ และผู้รับวัคซีนจะมีโอกาสป่วยน้อยลง แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ดีหรือเสียไปทั้งหมด เมื่อเชื้อสายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีนเกาะคอน้อยลง เชื้อที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีนจะเกาะมากขึ้น เชื้อชนิดนี้มีทั้งหมด 94 สายพันธุ์ แต่ 10 กว่าสายพันธุ์ที่นำมาทำวัคซีนเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดและร้ายแรงที่สุด เพราะฉะนั้นเชื้อที่เกาะที่คอซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีน มีความรุนแรงน้อยลง โอกาสเกาะมีน้อยลง แต่ในทางการแพทย์ยังต้องติดตามต่อไป และในอนาคตข้างหน้าจะมีวัคซีนป้องกันเชื้อ 15 และ 20 สายพันธุ์
สำหรับผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน IPD จะเหมือนกับผลข้างเคียงทั่วไป วัคซีนที่จดทะเบียนได้แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ เช่น ฉีดไป 100 คน จะมีเพียง 10 คน ที่มีอาการปวด บวม แดง ร้อน จะเป็นไข้ต่ำ ๆ อยู่ประมาณ 4-5 คน และเป็นไม่เกิน 2 วัน ถ้าเป็นไข้เกิน 2 วัน ให้รีบกลับไปพบแพทย์ แสดงว่าเป็นช่วงที่อาจจะมีโรคอื่นอยู่ ผลข้างเคียงของวัคซีนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในระดับที่เรารับได้
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง เป็นความร่วมมือของมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจัดหาวัคซีน IPD หรือวัคซีนที่ใช้สำหรับป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง โดยปกติเด็กทุกคนมีความเสี่ยงที่จะติดโรค IPD อยู่แล้ว แต่จะมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ คือ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคมะเร็ง ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อ HIV หรือเป็นโรคประจำตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติ เด็กเหล่านี้จึงมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้มากกว่าเด็กปกติ และเมื่อติดเชื้อแล้วยังมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการได้สูงด้วย ปกติเด็กที่ติดเชื้อถึงขั้นนี้จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเกินกว่า 10 วัน ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000-60,000 บาท แม้จะรักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐก็ตาม หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนอาจมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท นอกจากค่าใช้จ่ายในการรักษาแล้ว พ่อแม่ยังต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วย ดังนั้น ผลกระทบจึงมีมากมาย
การที่มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนกับสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทยนำโครงการนี้มาจัดทำ โดยเป็นการจัดหาวัคซีนจากการบริจาค จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเราทำกันต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ในปีนี้ได้จัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 4,500 โด๊ส และจะส่งมอบให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมาเราจะไม่เคยติดตามหรือคำนวณดูว่าผลที่ได้รับเป็นอย่างไร เชื่อว่าเฉพาะวัคซีนนั้นคิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาท แต่ว่ามูลค่าที่เราประหยัดได้จากการที่ช่วยให้เด็กไม่ป่วย หรือเด็กที่ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรงนั้น คิดว่าเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่สามารถนำมาแสดงเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ได้
“เชื่อว่าผลประโยชน์จากที่เราทำโครงการนี้มา 5 ปี น่าจะประหยัดเงินและทรัพยากรของประเทศได้หลายร้อยล้านบาท เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เราจะพยายามดำเนินโครงการนี้ต่อไป และเชื่อว่าปีต่อ ๆ ไปผู้บริจาคที่เห็นถึงประโยชน์อย่างมากจากโครงการจะบริจาคต่อเนื่องกันไปทุกปี”
นพ.มานิต กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากโครงการนี้แล้ว ทางมูลนิธิมีความตั้งใจที่จะพยายามผลักดันวัคซีนที่มีความจำเป็นให้เข้าไปอยู่ในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มก้นโรคของประเทศไทย โดยจะทำงานร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อช่วยกันผลักดัน ซึ่งปี 2563 คิดว่าจะจัดการสัมมนาเรื่องวัคซีนในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนเพื่อให้ได้รับรู้และช่วยกันผลักดัน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องหยุดไป อย่างไรก็ตาม มูลนิธิจะผลักดันต่อไปและจะเป็นหัวหอกในส่วนของภาคประชาชนที่จะผลักดันให้ฝ่ายรัฐได้เห็นความสำคัญของวัคซีน ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทุกคนอาจจะยังไม่รู้ว่าวัคซีนมีความสำคัญแค่ไหน แม้วัคซีนโควิด-19 จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและถือเป็นความเป็นความตายของประเทศ แต่วัคซีนชนิดอื่นนั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ถึงจะไม่มากเท่าก็ตาม นโยบายของรัฐบาลจึงยังไม่สนับสนุนเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว เชื่อว่ารัฐจะเห็นความสำคัญ และเราจะทำเรื่องวัคซีนเสนอขึ้นไป
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของโรค IPD ว่า หากโรคนี้เกิดในผู้สูงอายุ จะทำให้เกิดโรคปอดบวมและเสียชีวิตได้ หากเกิดในเด็กจะทำให้เกิดโรคได้หลายอวัยวะ โดยที่เด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD สูงมาก ยิ่งเด็กเล็กมากจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่า อุบัติการณ์เกิดโรค IPD ของคนทั่วไปอยู่ที่ 3.6 ต่อแสนประชากร แต่เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีอุบัติการณ์เกิดโรค IPD อยู่ที่ 11.1 ต่อแสนประชากร และจะสูงขึ้นไปอีกในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี คือ 33.8 ต่อแสนประชากร นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจาก IPD มีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 23% แต่ในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ก้าวไปไกลในการฉีดวัคซีนป้องกันโรค IPD โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งคนไทยไม่ทราบว่าปัจจุบันเหลือประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ไม่มีการฉีดวัคซีน IPD สำหรับเด็กฟรี โดยลาว เขมร เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย แม้แต่บังกลาเทศได้ฉีดวัคซีนโรค IPD ฟรีทั้งหมด เนื่องจากนานาชาติมีกองทุนที่จะซื้อวัคซีนราคาถูกให้คนในประเทศเหล่านั้นได้ฉีด ยกเว้นประเทศไทยซึ่งถือว่ามีเศรษฐกิจดีกว่า จึงให้ประเทศไทยซื้อเอง แต่ราคาวัคซีนประมาณเข็มละ 2,000 กว่าบาท เด็ก 1 คน จะต้องฉีดหลายเข็ม เป็นเงินประมาณคนละหมื่นบาท รัฐบาลจึงไม่จัดสรรงบประมาณให้
แต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ผลักดันวัคซีนไปแล้ว 2 ชนิด ให้เป็นวัคซีนหัวหอกของประเทศ คือ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) จนปัจจุบันนี้เด็กหญิงที่อายุ 12 ปี หรืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับวัคซีนชนิดนี้ฟรีทุกคน อีกชนิดหนึ่ง คือ วัคซีนไวรัสโรต้า (Rotavirus) กรุงเทพมหานครเริ่มให้ฟรีได้ 2 ปี ส่งผลทั้งประเทศได้วัคซีน HPV ฟรีทั้งหมด ขณะนี้ได้มีแผนสำหรับวัคซีนโรค IPD แล้ว แต่เราจัดซื้อวัคซีนในราคาแพงมาก การที่กรุงเทพมหานครจะพยายามซื้อนั้น เพื่อดึงราคาลงมาจากประมาณ 2 พันกว่าบาท ลดลงครึ่งหนึ่ง และซื้อ 1 แถม 1 จะเหลือเข็มละ 500 บาท และกุศโลบายในเรื่องนี้ คือ สภากรุงเทพมหานครเชิญสมาชิกสภา กทม. ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ กทม. รับการฉีดวัคซีนฟรีทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว เพื่อป้องกันปอดบวมให้ และสภากรุงเทพมหานครมีมติให้ซื้อวัคซีนเพื่อฉีดคนกรุงเทพมหานครที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ทุกคน และได้ตั้งงบประมาณไว้แล้ว แต่ปรากฏว่ามีการระบาดของโควิด-19 เงินจึงหายไปใช้ทางอื่นหมด คนที่อายุ 60 ปี ในกรุงเทพมหานครจึงยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน IPD หรือวัคซีนปอดบวมฟรี อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ นพ.มานิต ที่มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนได้มาเป็นหัวหอกในการทำเรื่องนี้ และอยากจะให้มูลนิธินี้เป็นเหมือนมูลนิธิของสหรัฐอเมริกา คือ มีมูลนิธิมา subsidize การจัดซื้อในรอบแรก ๆ เพื่อให้ได้วัคซีนราคาถูก แล้วจะช่วยดึงราคาลงมาเอง เพื่อจะได้ใช้งบประมาณที่มีจำกัดอย่างเกิดผล
อย่างไรก็ตาม จะทำอย่างไรที่จะให้มีการฉีดวัคซีนได้ฟรี ประการที่ 1. จะต้องให้เห็นความสำคัญ และ 2. ต้องให้เห็นว่า เมื่อทำแล้วมีราคาไม่แพงอย่างที่คิด และต้องมีคนเป็นหัวหอกนำ ซึ่งตอนนี้ที่ประชุมที่กรุงเทพมหานครจะใช้เงินกองทุนสุขภาพกรุงเทพมหานครที่ได้จากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งของ กรุงเทพมหานคร ลงขันด้วย รวมกันปีละเกือบ 600 ล้านบาท 3 ปี เป็นเงิน 1,700 ล้านบาท ใช้สำหรับวัคซีน 100 ล้านบาท และเหลือ 1,500 ล้านบาทเศษ กำลังวางแผนที่จะเอาเงินตรงนี้มาซื้อวัคซีน โดยให้กับเด็กเล็ก 3 เข็ม (2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน) และผู้สูงอายุ จะเป็นงบประมาณ 60-80 ล้านบาท ถ้าราคาเข็มละ 500 กว่าบาท ซึ่งบริษัทยา 2-3 แห่ง ที่มีวัคซีนได้ตกลงและจะเข้าสู่การประเมินราคากัน จึงมีความเป็นไปได้ด้วยงบประมาณปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท
“เรามีแนวโน้มที่จะพยายามทำให้เกิดวัคซีนนี้ เพราะมีความเชื่อมั่นว่า เราจะต้องไม่ทำให้โควิด-19 สับสนกับโรคไข้หวัด RSV (Respiratory Syncytial Virus) ที่ทำให้เกิดหวัดในเด็กเล็ก ซึ่งขณะนี้กำลังระบาดในกรุงเทพมหานคร และมีช่วงระบาดสูงสุด (peak) ในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ซึ่งอาจจะปนกับเรื่องโควิด สภากรุงเทพมหานครมีการประชุมกันทุกสัปดาห์ในเรื่องโควิด มีการติดตามโรคเหล่านี้ว่ามีโรคอะไรที่จะมาทำให้ประชาชนสับสนและสงสัยว่าตนเองเป็นโควิดหรือไม่ ซึ่งทำให้ต้องไปตรวจและต้องเข้ารับการกักบริเวณอีก จึงมีมติว่าจะต้องเอาอะไรก็ตามที่ช่วยลดความสับสนเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและทำให้สงสัยว่าจะเป็นโควิด-19 หรือไม่ มาใช้ให้หมด เช่น หน้ากาก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีน IPD จากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อ ทำแผนงานโครงการในเร็ว ๆ นี้ และสภากรุงเทพมหานครได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อใช้จ่ายเงิน 1,500 ล้านบาท โดยหนึ่งในแผนงานนี้ คือ การจัดหาวัคซีน IPD มาฉีดเด็กและผู้สูงอายุต่อไป”
โควิด-19 พลิกประเทศไทยกลับมาผลิตวัคซีนเอง
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ มีประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนในประเทศไทย ทั้งวัคซีน IPD และวัคซีนชนิดอื่น ๆ ฟาร์มาไทม์ จึงขอนำเสนอเนื้อหาที่สำคัญและน่าสนใจหลายประการซึ่งเกี่ยวข้องกับอนาคตของวัคซีนในประเทศไทย
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ในอดีตไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใด ประเทศไทยไม่แพ้ประเทศอื่น และผลิตวัคซีนได้หลายชนิด แต่การผลิตลดลงตามลำดับ เพราะมีนโยบาย “ซื้อเขาถูกกว่า” ทำให้เราไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี และในปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลชุดนี้ได้กระตุ้นเตือนว่าหน่วยงานใดต้องการจะทำอะไร ให้รีบดำเนินการ จึงได้กระตุ้นเตือนนักวิทยาศาสตร์ว่า ตอนนี้เป็นโอกาสทองที่จะพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่จะสามารถพัฒนาได้เสร็จในช่วงสถานการณ์โควิด บางทีเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องสะสมไว้เป็นองค์ความรู้เพื่อพัฒนาต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุดได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาสมองเพื่อจะทำวัคซีนต่อไป
ขณะที่ นพ.มานิต กล่าวว่า เรื่องวัคซีนในประเทศไทย ต้องย้อนหลังไป 30 ปี ซึ่งเมื่อก่อนไทยเป็นผู้ผลิตวัคซีนได้อันดับต้น ๆ ของเอเชีย สมัยก่อนไทยผลิตวัคซีนใช้เองทั้งหมดในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แต่พอมาถึงยุคหนึ่งเมื่อประมาณ 10 กว่าปี 20 ปีที่แล้ว เนื่องจากว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น องค์การเภสัชกรรม ต้องการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาโรงงานที่ผลิตวัคซีนให้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก แต่รัฐบาลในยุคนั้นบอกว่า ซื้อมาถูกกว่า เพราะคนที่ผลิตได้มาก จะขายได้ถูกกว่า จึงไม่มีการพัฒนาวัคซีน หลังจากนั้นการผลิตวัคซีนได้ลดลงมาเรื่อย ๆ และทุกวันนี้อาจจะผลิตได้เพียงชนิดเดียว และที่เหลือต้องไปซื้อ แต่พอประสบปัญหาที่หาซื้อไม่ได้ จึงคิดจะสร้างโรงงานวัคซีนให้องค์การเภสัชกรรม แต่ผ่านมา 10 ปี ยังผลิตวัคซีนไม่ได้เลย เพราะวัคซีนไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ง่าย ๆ แม้จะมีเงิน แต่ถ้าไม่มีความสามารถ จะไม่สามารถผลิตได้
“ตอนที่ก่อตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติและออก พ.ร.บ.ความมั่นคง เราตั้งความมุ่งหมายจะให้ประเทศไทยมีศักยภาพผลิตวัคซีนได้ แต่เมื่อของบประมาณไปกลับไม่เคยได้รับ พอมีโรคโควิด-19 ระบาด จึงได้โอกาสดี โดยวันนี้เราได้วางโรงงานในประเทศทั้งเอกชนและของรัฐ และเติมทรัพยากรเข้าไป ดังนั้น หลังจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว เราจะผลิตวัคซีนเองได้ ถ้ามีวัคซีนชนิดใหม่มา จะสามารถผลิตได้ แต่ให้ผ่านช่วงโควิดไปก่อน เพราะเวลานี้ได้เติมเงินไปเป็นพันล้านบาทสำหรับโควิดให้กับโรงงานต่าง ๆ ที่มีศักยภาพให้ผลิตวัคซีนโควิดเองได้ ซึ่งจะได้ยินข่าวว่า วันนี้เรามีทั้งซื้อ ทั้งผลิตเอง มีทั้งพัฒนารอไว้ เมื่อยังผลิตไม่ได้ในวันนี้ แต่อีก 2-3 ปี จะผลิตได้”
“หลังจากสถานการณ์โควิดนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในศักยภาพของประเทศไทย ประเทศไทยมีคนที่เก่งเท่ากับฝรั่งที่จะค้นคว้าและหาวัคซีนได้ แต่เมื่อค้นคว้าไปถึงระดับหนึ่ง ไม่สามารถลงทุนต่อได้ เพราะการทดสอบวัคซีนแต่ละเฟสใช้เงินหลายร้อยล้านบาท ตอนนี้เราสนับสนุนโครงการแต่ละโครงการ 500 - 600 ล้านบาท เพื่อที่จะทำเฟสต่าง ๆ ซึ่งสมัยก่อนของบฯ ไม่ได้ แต่พอมีโควิดมา ขอไปพันล้านหรือหกพันล้านก็ยังได้
เมื่อถามว่าศักยภาพเป็นอย่างไร แต่ก่อนเราผลิตได้แล้วก็เลิกไป แต่ตอนนี้กลับมาทำใหม่ เชื่อว่าหลังโควิดเราจะผลิตวัคซีนเองได้มากมาย”
นพ.มานิต กล่าวว่า ตอนที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค มีการระบาดไข้หวัดใหญ่ ในหลวง ร.9 ได้ทรงให้คนติดต่อมาว่า ท่านอยากสนับสนุนให้เราผลิตวัคซีนเองได้ อยากให้กรมควบคุมโรคดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งกรมได้พยายามในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และมาได้โอกาสเมื่อมีสถานการณ์โควิด ที่จะมีการผลิตวัคซีนโควิดโดยโรงงานของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งลงทุนไปก่อนหน้านี้หลายพันล้านบาท และเรามาเพิ่มเต็มให้อีก 600 ล้านบาท เพื่อให้สามารถผลิตได้
นพ.พรเทพ กล่าวเสริมว่า “ตอนที่โรคไข้หวัด 2009 ระบาด รัฐบาลอยากจะทำวัคซีนเอง เพราะหาซื้อไม่ได้ จึงไปนำการผลิตวัคซีนของต่างประเทศเข้ามา ปรากฏว่าไม่สามารถผลิตได้ เพราะติดขัดหลายเรื่อง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สูญ ในตอนนั้น แม้จะใช้เงินเป็นพันล้านบาท แต่ไม่สูญเปล่า เพราะได้คน ได้ความรู้ และมีห้องแล็บ พอมีโรคโควิดมา เราได้เสนอให้ทำเป็นโครงการใหญ่ไป และรัฐบาลอนุมัติเงินกู้ให้”
ขณะนี้เราจะ transfer เทคโนโลยีวัคซีนโควิด ซึ่งมีหลายสิบแบบ และจะเอามาทำ 2 แบบ เฉพาะแค่ทดลองจะต้องใช้งบประมาณเป็นหลักหลายร้อยล้านบาท และเมื่อถึงเวลาสร้างโรงงาน จะต้อง transfer ความรู้เข้ามาสร้างโรงงาน ซึ่งใช้งบประมาณอีกเป็นพันล้านบาท แต่รัฐบาลจะต้องทำเพื่อความมั่นคง ต่อจากนี้เราจะมีทั้งคนที่มีความรู้ และแล็บที่ดี และมีโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนได้ และต่อไปคนไทยจะได้ใช้วัคซีนที่ทันคนอื่น และผลิตโดยคนไทย ในโรงงานของคนไทย รวมทั้งในอนาคตจะมีวัคซีน IPD ชนิดใหม่เข้ามา และเราพร้อมที่จะทำ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยี mRNA ช่วยให้พัฒนาวัคซีนได้เร็วและง่ายขึ้นมาก และไม่ใช่เฉพาะวัคซีนโรคติดเชื้อเท่านั้น จะรวมไปถึงการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโรคมะเร็งทุกชนิดเองทั้งหมด และโรคไม่ติดเชื้ออื่น ๆ ด้วยที่สามารถสร้างวัคซีนขึ้นมาได้ และหลายบริษัทได้ทำแล้ว