การศึกษาครั้งใหม่พบว่า การงีบหลับตอนบ่ายอาจช่วยให้สมองกระฉับกระเฉงมากขึ้น
คณะผู้วิจัยที่ประเทศจีนรายงานในวารสาร General Psychiatry ว่า การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้พิสูจน์ความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล แต่การงีบหลับตอนกลางวันมีความสัมพันธ์กับการรับรู้ถึงตำแหน่งสถานที่ ความคล่องทางภาษาและความจำเพื่อใช้งาน (working memory) ที่เพิ่มขึ้น
Dr. Gayatri Devi แพทย์ประสาทวิทยาซึ่งชำนาญการในด้านความผิดปกติเกี่ยวกับความจำ กล่าวว่า
“เรารู้ว่าอุปนิสัยการนอนเพื่อสุขภาพจะป้องกันความจำเสื่อมได้ และการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุดการงีบหลับตอนกลางวันอาจเป็นประโยชน์ต่อการดูแลให้สมองแข็งแรง”
อย่างไรก็ตาม Dr. Devi ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งใหม่ ได้เน้นว่า “จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันผลการค้นพบในเบื้องต้น
การศึกษาครั้งใหม่นี้นำโดย Dr Lin Sun จาก Alzheimer's Disease and Related Disorders Center ใน Shanghai Mental Health Center นครเซียงไฮ้ คณะทำงานของ Dr.Sun ได้รวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างมากกว่า 2,200 คน ที่มีอายุอย่างน้อย 60 ปี ซึ่งอาศัยยู่ในเมืองต่าง ๆ ของจีน รวมทั้งปักกิ่ง เซียงไฮ้ และเซียน
โดยภาพรวมทั้งหมด มีมากกว่า 1,500 คน ที่นอนตอนกลางวันเป็นประจำ ซึ่งกินเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และอีก 680 คน ไม่ได้นอนตอนกลางวัน
มีการทดสอบผู้เข้าร่วมการศึกษาเพื่อดูความสามารถทางสมองในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ทักษะทางด้านมิติสัมพันธ์ ความจำเพื่อการใช้งาน ช่วงความสนใจ การแก้ไขปัญหา ความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งสถานที่ และความคล่องทางภาษา
พบว่าผู้ที่งีบหลับตอนบ่ายมีคะแนนสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้งีบ และมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งสถานที่ ความคล่องด้านภาษา และความจำ
คณะทำงานในการศึกษาครั้งนี้รายงานว่า มีหลายทฤษฎีที่อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมการงีบหลับจึงให้ประโยชน์ มีทฤษฎีหนึ่งบอกว่า การงีบหลับช่วยบรรเทาการอักเสบ ซึ่งมีบทบาทต่อความผิดปกติของการนอนและต่อสุขภาพโดยรวม
Dr. Melissa Bernbaum จาก Huntington Hospital ในฮันติงตัน นครนิวยอร์ก กล่าวถึงการค้นพบจากการศึกษาของนักวิจัยชาวจีน ว่า คณะผู้วิจัยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่การงีบหลับมีต่อความรู้ความเข้าใจ”
แต่ Dr. Bernbaum กล่าวเพิ่มเติมว่า “ระยะเวลาและความถี่ของการงีบหลับอาจมีความสำคัญอยู่ด้วย”
ตัวอย่างเช่น “ผู้ที่หลับไปโดยไม่ตั้งใจระหว่างเวลากลางวัน อาจเนื่องมาจากยาหรือความผิดปกติของการนอน อาจไม่ส่งผลดีเท่ากับผู้ที่งีบหลับตามเวลาที่กำหนดไว้” Dr.Bernbaum กล่าว “การศึกษาในอนาคตอาจดูว่าการงีบหลับตอนกลางวันมีความหมายหรือไม่ เมื่อเราพูดถึงสุขภาพของสมอง”
งีบตอนกลางวันช่วยให้สดใสขึ้น
HealthDay News