การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารอาจลดการพึ่งพายาความดันโลหิต

Ann Intern Med 2020 Aug 18

ในการทดลองแบบสุ่มพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารต้องการใช้ยาความดันโลหิตน้อยกว่าผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างเดียว
    ในผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นโรคเบาหวานและควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี การผ่าตัดกระเพาะอาหารจะช่วยให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้นและมักจะช่วยบรรเทาโรคเบาหวานลงได้ในระยะยาว  มีการศึกษาไม่มากนักเกี่ยวกับผลของการผ่าตัดกระเพาะอาหารต่อความดันโลหิตสูง
    ในการศึกษาศูนย์เดียวที่ประเทศบราซิล คณะผู้วิจัยได้สุ่มผู้ป่วยสูงวัย100 คนซึ่งมีความดันโลหิตสูงและดัชนีมวลกายระหว่าง 30.0 และ 39.9 kg/m2 เพื่อรับการผ่าตัดแบบRoux-en-Y gastric bypass (RYGB) ร่วมกับการรักษาด้วยยาตามมาตรฐานหรือให้รับการรักษาด้วยยาอย่างเดียว
    ณ ตอนเริ่มต้นการศึกษา ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต  ≥ 2 ขนานที่ขนาดยาสูงสุดหรือได้รับยา ≥ 3 ขนานที่ระดับยาปานกลาง  ในข้อมูลการติดตามผู้ป่วยเป็นเวลา 1 ปีจากการทดลองนี้ซึ่งมีการเผยแพร่ก่อนหน้า พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด RYGB ซึ่งปรากฏผลลัพธ์ปฐมภูมิมีมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 84 เทียบกับ 13)  โดยลดจำนวนยาลดความดันลงได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ในขณะที่รักษาความดันโลหิตได้ในระดับ <140/90 mm Hg (Circulation 2018; 137:1132)
    ปัจจุบันผู้เขียนรายงานการศึกษาได้นำเสนอข้อมูลการติดตามผลเพิ่มเติม  ณ เวลา 3 ปี พบว่าร้อยละ 73 ของผู้ป่วยที่ได้ RYGB และร้อยละ 11 ของผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาปรากฏผลลัพธ์ปฐมภูมิ  นอกจากนั้น ผู้ป่วยกลุ่ม RYGB ที่มีความดันโลหิต <140/90 mmHg โดยไม่ได้ใช้ยาใดๆ มีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 35 เทียบกับร้อยละ 2)  การควบคุมความดันโลหิตโดยรวม (ด้วยการใช้หรือไม่ได้ใช้ยา) เหมือนกันทั้ง 2 กลุ่ม
    การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารอาจช่วยลดการใช้ยาฟุ่มเฟือยในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงบางคนซึ่งมีความอ้วนปานกลาง  และการตัดสินใจผ่าตัดกระเพาะอาหารจะต้องอาศัยการพิจารณาผลดีและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน