นิเซฟเตือนชีวิตเด็กทั่วโลกอยู่ในความเสี่ยง ถูกกดทับจากความเหลื่อมล้ำ - ปัญหาโลกร้อน

"ยูนิเซฟเตือนชีวิตเด็กทั่วโลกในปี 2050 อาจเผชิญวิกฤตใหญ่จากปัญหาประชากร ภาวะโลกร้อน และความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี"


กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ เตือน ปี 2050 ชีวิตของเด็กทั่วโลกอาจตกอยู่ในความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัย ทั้งการมเปลี่ยนแปลงของประชากร ปัญหาภาวะโลกร้อน และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี


สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยรายงานประจำปีของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ซึ่งมีการเผยแพร่ฉบับล่าสุดพบว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กทั่วโลกในปี 2050 ตกอยู่ในความเสี่ยงจาก 3 ประเด็นหลัก หากผู้มีอำนาจตัดสินใจในปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย แนวทางต่างๆ ในขณะนี้ ประกอบด้วย ความเปลี่ยนแปลงของประชากร ปัญหาภาวะโลกร้อนเลวร้ายลง และความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล


ในรายงานยังระบุว่า จำนวนของเด็กทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบันที่ 2.3 พันล้านคน แต่จะมีสัดส่วนของประชากรวัยเด็กน้อยกว่าประชากรสูงวัยที่จะมีจำนวนราว 1 หมื่นล้านคนทั่วโลก
สัดส่วนประชากรเด็กจะลดลงในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีแนวโน้มน้อยกว่าร้อยละ 10 ของประชากรในแต่ละประเทศ ยกเว้นในภูมิภาคที่มีความยากจน เช่น พื้นที่ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราที่จะมีประชากรเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม หากประชากรวัยเด็กในอนาคตสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริการสุขภาพ และอาชีพ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น


ขณะที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไปก็อาจทำให้เด็กในปี 2050 พบกับคลื่นความร้อนมากขึ้นกว่าในปี 2000 ถึง 8 เท่า และเสี่ยงที่จะพบเจอกับน้ำท่วมใหญ่ 3 เท่า และไฟป่าเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า


ส่วนเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ แม้จะมีศักยภาพที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ก็อาจเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน โดยประมาณการว่าประชากรร้อยละ 95 ในประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ต่างจากประชากรในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่มีประชากรเพียงร้อยละ 26 ที่มีอินเทอร์เน็ต เพราะไม่มีไฟฟ้า สัญญาณ และอุปกรณ์ที่จะเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้


ทั้งนี้ ในรายงานของยูนิเซฟบ่งชี้ว่า เด็กๆ กำลังพบกับหลายวิกฤต ตั้งแต่ปัญหาสภาพอากาศไปจนถึงภัยในโลกออนไลน์ และเรื่องเหล่านี้จะยิ่งเลวร้ายลงในช่วงหลายปีข้างหน้า และการพัฒนาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง

 


ภาพจาก : AFP


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.tnnthailand.com/news/world/181808/