อาหารแปรรูปสูงส่งผลเสียต่อคุณภาพกล้ามเนื้อ

โครงการวิจัยโรคข้อเสื่อมในสหรัฐอเมริกาพบว่า อาหารแปรรูปสูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพกล้ามเนื้อ


จากการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการ Osteoarthritis Initiative ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ( knee osteoarthritis) ให้ดีขึ้นในอนาคต นักวิจัยพบว่า การบริโภคอาหารแปรรูปพิเศษหรือ Ultra-Processed Food (UPF) เช่น ของขบเคี้ยวในบรรจุภัณฑ์ พิซซ่าแช่แข็ง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ลูกอม และอาหารพร้อมรับประทาน ส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันในกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา ทั้งนี้ นักวิจัยได้พบความเกี่ยวโยงของการบริโภค UPF กับคุณภาพของกล้ามเนื้อลาย (skeletal muscle quality) ที่ได้จากภาพสแกน MRI โดยในจำนวนผู้เข้าโครงการ 666 คนแบ่งเป็นผู้ชาย 455 คน และผู้หญิง 211 คน ทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 60 ปี และยังไม่เคยได้รับผลกระทบจากโรคข้อเข่าเสื่อมมาก่อน แต่ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดมีน้ำหนักเกินโดยมีดัชนีมวลกายเฉลี่ยอยู่ที่ 27 และประมาณ 40% ของอาหารที่พวกเขาบริโภคในปีที่ผ่านมาเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปขั้นสูง ซึ่งมักมีส่วนผสมของเกลือ น้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง


นพ. Zehra Akkaya นักวิจัยในภาควิชารังสีวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาภาพสแกน MRI เพื่อศึกษาถึงคุณภาพของกล้ามเนื้อติดกระดูกจากการบริโภคอาหารเป็นครั้งแรก และพบว่า ยิ่งบริโภคอาหาร UPF มากเท่าไรก็จะยิ่งมีไขมันในกล้ามเนื้อต้นขามากขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อม โดยไม่ได้คำนึงถึงปริมาณแคลอรีที่ได้รับ ค่าดัชนีมวลกาย ปัจจัยทางสังคมและประชากร รวมไปถึงระดับการออกกำลังกาย

 


แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ :   https://athletechnews.com/ultra-processed-foods-muscle-quality-study/