เรื่องราวโดย จอมพล ดาวสุโข
ก้าวประวัติศาสตร์วงการแพทย์ เมื่อหมอชาวฝรั่งเศสผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากข้ามทวีปสำเร็จด้วยหุ่นยนต์ที่ผลิตในจีน
นี่เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า เทคโนโลยีทำให้โลกของเราเข้าใกล้กันมากขึ้น ถึงขนาดที่หมอกับคนไข้ซึ่งอยู่ห่างกัน 12,000 กิโลเมตร ยังสามารถผ่าตัดกันได้
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ย. นพ.โยเนส อาฮัลลาล ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส ใช้หุ่นยนต์ถูม่าย (Toumai) ซึ่งผลิตในจีน ผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศโมร็อกโก
นพ.อาฮัลลาลใช้คอนโซลควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดจากนครเซี่ยงไฮ้แบบเรียลไทม์จนสามารถตัดเนื้อร้ายที่ต่อมลูกหมากออก และเย็บแผลจนเสร็จเรียบร้อย อีกทั้งสามารถรักษาเส้นประสาท-หลอดเลือด และความยาวสูงสุดของท่อปัสสาวะเอาไว้ โดยการผ่าตัดใช้เวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และมีความหน่วงทางเดียว (one-way latency) เพียง 100 มิลลิวินาที
นี่เป็นการสร้างสถิติใหม่ด้วยการเป็นการผ่าตัดผู้ป่วยมนุษย์จากระยะไกลที่มีระยะห่างมากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ หุ่นยนต์ผ่าตัดถูม่ายเคยช่วยผ่าตัดซีสต์ที่ไตแบบแผลเล็กระหว่างนครเซี่ยงไฮ้และท่าเรือโคโตโนในเบนิน ซึ่งมีระยะการส่งข้อมูลไป-กลับ 27,000 กิโลเมตร เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีนรายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ผ่าตัดได้กลายมาเป็นแนวโน้มใหม่สำหรับกลุ่มสตาร์ตอัปเทคโนโลยีของจีน โดยประธานบริษัท ไมโครพอร์ต เม็ดบ็อต (MicroPort MedBot) ซึ่งพัฒนาหุ่นยนต์ถูม่ายเชื่อว่าเทคโนโลยีทางไกลจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อบริการทางการแพทย์ในอนาคต
ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ย้ำว่า เป้าหมายต่อจากนี้คือ การทำให้การผ่าตัดทางไกลกลายเป็นสิ่งที่แพทย์สามารถทำกันได้เป็นปกติ
ปัจจุบันหุ่นยนต์ถูม่ายซึ่งได้รับการรับรองกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย (CE certification) ของสหภาพยุโรปเมื่อเดือน พ.ค. และได้รับอนุมัติให้ใช้ในขั้นตอนการผ่าตัดหลายรายการแล้ว ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดทรวงอก และการส่องกล้องทางนรีเวช
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.msn.com/