นักวิจัยค้นพบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะ doxycycline ร่วมกับการรักษาด้วยยาวัณโรค ช่วยลดขนาดของโพรงในปอดและเร่งตัวบ่งชี้การฟื้นตัวของปอด จากการทดลองในผู้ป่วยวัณโรคปอด 30 คน
ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 10 ล้านคน ในแต่ละปี และโรคนี้ยังคงเป็นสาเหตุต้น ๆ ของการเสียชีวิตจากเชื้อที่ก่อโรคติดต่อ ยารักษาวัณโรคสำหรับช่วงระยะสั้นตามมาตรฐานยังต้องให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 6 เดือน และวัณโรคดื้อยากำลังเป็นภัยคุกคามทางสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น
แม้หลังจากหยุดการติดตามผลของวัณโรคแล้ว ผู้ป่วยมักจะประสบกับภาวะผิดปกติเนื่องจากโรคที่เป็นมาก่อน เช่น การเกิดแผลเป็นที่ปอด ผู้รอดชีวิตจากวัณโรคมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าประชากรในพื้นที่เดียวกันประมาณ 3 ถึง 4 เท่า
ในวัณโรคปอดซึ่งเป็นวัณโรคที่พบมากที่สุด แบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ทำให้เกิดบริเวณที่มีเชื้อวัณโรคอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่า โพรง (cavities) และยารักษาวัณโรคผ่านเข้าไปในโพรงเหล่านี้ได้ยากมาก
หลังจากรักษาวัณโรคเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อภายในปอดซึ่งนำไปสู่การเกิดปัญหาต่าง ๆ ในปอดต่อไป เช่น การทำหน้าที่ผิดปกติของทางเดินหายใจอย่างถาวร ซึ่งจะทำให้หายใจลำบาก เนื้อเยื่อปอดเปลี่ยนเป็นแข็ง และโรคหลอดลมโป่งพอง (bronchiectasis) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไอเป็นเลือด
คณะผู้วิจัยจาก Infectious Diseases Translational Research Programme แห่ง NUS Yong Loo Lin School of Medicine ได้พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะ doxycycline ที่ใช้แพร่หลายร่วมกับการรักษาด้วยยาวัณโรค จะลดขนาดของโพรงลง และเร่งตัวบ่งชี้การฟื้นตัวของปอด
ในการทดลองแบบปิด 2 ทาง เฟสที่ 2 ซึ่งดำเนินการที่ National University Hospital และ TB Control Unit พบว่า การรักษามีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ใช้ยาหลอก การศึกษาแสดงให้เห็นความหวังสำหรับโอกาสในการรักษาด้วยมาตรฐานใหม่ ซึ่งอาจจะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ และคณะทำงานกำลังหาทุนเพื่อการทดลองขนาดใหญ่ขึ้นอย่างเต็มที่ในเฟสที่ 3 เพื่อพิสูจน์ผลการค้นพบดังกล่าว
“ผู้ป่วยวัณโรคปอดมักจะมีปัญหาจากความเสียหายในปอดหลังจากเป็นวัณโรค ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตและคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ยา doxycycline เป็นยาปฏิชีวนะราคาถูกมีจำหน่ายทั่วไปซึ่งสามารถลดความเสียหายของปอดได้ และอาจช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Catherine Ong นักวิจัยหลักของการศึกษาครั้งนี้และเป็นสมาชิกของ Infectious Diseases Translational Research Programme (TRP) แห่ง NUS Medicine กล่าว
Prof. Paul Tambyah ซึ่งมีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ด้วยและเป็นรองผู้อำนวยการของ Infectious Diseases TRP ให้ความเห็นว่า “แม้เราจะสามารถรักษาผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่ได้สำเร็จในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่เรามีผู้ป่วยหลายคนที่มีปัญหาอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับความเสียหายของปอดจากการติดเชื้อวัณโรคแต่เริ่มแรก ถ้ายาธรรมดา ๆ อย่าง doxycycline สามารถช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนจาก “วัณโรคระยะยาว” ยานี้จะช่วยผู้ป่วยได้อีกจำนวนมากทั่วโลก”
Infectious Diseases TRP มุ่งที่จะให้แนวทางแบบองค์รวมโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางสำหรับโรคติดต่อที่เกี่ยวข้องกับสิงคโปร์และภูมิภาคนี้ โปรแกรมนี้เน้นความสำคัญในประเด็นที่ครอบคลุมวิวัฒนาการและการติดต่อของเชื้อโรค ปฏิสัมพันธ์ของผู้ถูกอาศัยกับจุลชีพ (host-microbe interaction) และการพัฒนาวัคซีนและการรักษา
ยาปฏิชีวนะที่ใช้กันแพร่หลายช่วยเร่งการฟื้นตัวผู้ป่วยวัณโรค
Journal of Clinical Investigation, ScienceDaily