ในการทดลองแบบเปิดกับผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่า การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อการรักษาไม่ช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และยังมีความสัมพันธ์กับภาวะเลือดออกมากกว่ายาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด
เมื่อเทียบกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ แล้ว โรค COVID-19 มีความสัมพันธ์อย่างมากกับอุบัติการณ์ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ยิ่งกว่านั้น ยังคิดว่าภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มีโอกาสเกิดมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีระดับความเข้มข้นของ D-dimer สูง
การศึกษาเชิงสังเกตการณ์หลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่า ทั้งการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้เพื่อการรักษาและเพื่อการป้องกัน (therapeutic and prophylactic doses of anticoagulation) อาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ แต่ยังขาดการศึกษาภายใต้การควบคุม
เพื่อตอบคำถามนี้ คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองแบบเปิดที่โรงพยาบาลบราซิล 31 แห่ง ครอบคลุมผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล และมีระดับ D-dimer สูง โดยแยกผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism: VTE) ออกไป
ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษา 615 คน ได้สุ่มให้ผู้ป่วย 304 คน ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด คือ heparin ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล และอีก 311 คน ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อการรักษา คือ rivaroxaban หรือ heparin เป็นเวลา 30 วัน
พบว่า เวลาก่อนการเสียชีวิต ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาล และระยะเวลาการให้ออกซิเจนเพิ่มตลอด 30 วัน ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่มีความแตกต่างในอุบัติการณ์ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ณ 30 วัน อย่างไรก็ตาม ภาวะเลือดออกที่เกี่ยวข้องในทางคลินิกเกิดขึ้นในผู้ป่วย 26 คน (ร้อยละ 8) ซึ่งได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อการรักษา และ 7 คน (ร้อยละ 2) ที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (P=0.001)
จากการศึกษาครั้งนี้ซึ่งได้ออกแบบสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับ D-dimer สูง ไม่มีตัวบ่งชี้สำหรับการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อรักษาเพื่อการป้องกัน VTE ในผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 ผลการรักษาสนับสนุนข้อแนะนำการรักษาในปัจจุบันและไม่ได้ทำให้วิธีการปฏิบัติเปลี่ยนแปลง
ยารักษาการแข็งตัวของเลือดไม่ให้ประโยชน์ผู้ป่วย COVID-19 และมี D-Dimer สูง
Lopes RD et al. Lancet 2021 Jun 12