ปัญหาการย่อยอาหารมักเกิดขึ้นหลังการบาดเจ็บของไขสันหลัง และนำไปสู่อาการท้องผูกและภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้เรื้อรัง แต่การฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์ช่วยฝึกเสมือนจริงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บมีอาการดีขึ้น คณะผู้วิจัยกล่าว
ในการสำรวจก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังมากกว่า 1 ใน 3 บอกว่า ปัญหาการย่อยอาหารและกระเพาะปัสสาวะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญที่สุดต่อการดำเนินชีวิตหลังการบาดเจ็บ
การรักษาที่ทำกันมาแต่เดิม ได้แก่ การมุ่งไปที่ระบบทางเดินอาหาร แต่การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายและการอยู่ในท่าตั้งตัวตรงอาจช่วยการทำงานของลำไส้ใหญ่ได้
การศึกษาครั้งนี้ได้ตรวจสอบว่า การให้ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังสวมหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง (robotic exoskeleton) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยยืนและเดินได้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่
โดยมีผู้ป่วย 49 คน ผ่านการฝึกเดินด้วยการช่วยเหลือของหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงครบ 32 คาบ ผลลัพธ์ที่ได้แสดงว่า อุปกรณ์นี้ช่วยให้การทำหน้าที่ของระบบย่อยอาหารดีขึ้น
“เราพบว่าเวลาของการขับถ่ายอุจจาระลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาร้อยละ 24 รายงานว่า มีอาการดีขึ้น” Gail Forrest ผู้อำนวยการ Tim and Caroline Reynolds Center for Spinal Stimulation ของ Kessler Foundation ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าว
การค้นพบนี้สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า “วิธีการนี้อาจช่วยให้มาตรวัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของลำไส้ดีขึ้น” Forrest กล่าวในเอกสารเผยแพร่ข่าว
ผลการค้นพบนี้ได้รับการเผยแพร่ใน Journal of Clinical Medicine
Dr. Peter Gorman ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษา กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า การเดิน ไม่ใช่เฉพาะแค่ยืนเท่านั้น อาจให้ผลที่ดีแก่ผู้ป่วย
“เป้าหมายของเราเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังเรื้อรังดีขึ้น และผลการศึกษาที่น่าสนใจนี้จะช่วยให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในอนาคตเกี่ยวกับการรักษาด้วยการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นสาขาที่กำลังเกิดขึ้นใหม่” Dr. Gorman ซึ่งเป็นหัวหน้า Division of Rehabilitation Medicine ที่ Rehabilitation and Orthopaedic Institute แห่ง University of Maryland กล่าว
หุ่นยนต์ฝึกเดินไฮเทคช่วยระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้นในผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บ
Agencies