เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ B.1.351 และ P.1 สามารถหลบหลีกแอนติบอดียับยั้งไวรัส

Cell 2021 Mar 20

เชื้อ SARS-CoV-2 กลายพันธุ์บางชนิดอาจทำลายการทำงานของแอนติบอดีที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสได้  ขัดขวางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
    แม้ว่าวัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ (vector-based vaccine) และวัคซีน mRNA จะมีผลสูงในการต่อต้านโปรตีนหนามของ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ แต่การปรากฏของสายพันธุ์ B.1.1.7 (อังกฤษ) B.1.351 (แอฟริกาใต้) และ P.1 (บราซิล) ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความคงทนหรือความแข็งแกร่งของวัคซีนในปัจจุบัน รวมทั้งการบำบัดด้วย passive therapeutic antibody
    นักวิจัยได้ใช้ vesicular stomatitis virus vector system ในการสร้างอนุภาคที่มีโปรตีนหนามของ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ธรรมดาและที่เกิดการกลายพันธุ์   จากนั้นได้ตรวจสอบว่าโมเลกุลที่ทำหน้าที่ยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ (entry inhibitor molecules), แอนติบอดีเพื่อการรักษา และพลาสมาจากผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วและผู้ที่ได้รับวัคซีน BNT162b (Pfizer-BioNTech) ให้ผลอย่างไรในการต่อต้านอนุภาคไวรัสเหล่านี้ (ในเซลล์ไลน์ของมนุษย์)
    พบว่า สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีโมโนโคลน (monoclonal antibody) ได้แก่  imdevimab สามารถยับยั้งไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ทั้งหมดเข้าสู่เซลล์  ในขณะที่แอนติบอดี casirivimab จะมีประสิทธิผลในการต่อต้านสายพันธุ์ B.1.1.7 และมีประสิทธิผลบางส่วนในการต่อต้านสายพันธุ์ B.1.351 กับ P.1  และไวรัสกลายพันธุ์ B.1.351 กับ P.1 ดื้อต่อแอนติบอดี bamlanivimab อย่างสิ้นเชิง และส่วนสายพันธุ์ B.1.1.7 ถูกยับยั้งด้วยแอนติบอดีทั้งหมด
    พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (Convalescent plasma) จากผู้ป่วยโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นความสามารถในการกำจัดสายพันธุ์ B.1.1.7 แต่ยับยั้งสายพันธุ์ B.1.351 และ P.1 ได้น้อยกว่า  ตัวอย่างพลาสมาส่วนใหญ่จากผู้ที่ได้รับวัคซีนยังแสดงให้เห็นว่ายับยั้งสายพันธุ์ B.1.351 และ P.1 ได้จำกัด แม้ซีรัมทั้งหลายจะยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ธรรมดาได้หมดก็ตาม
    แม้การสร้างพยากรณ์ทางคลินิกและระบาดวิทยาจะทำได้ยากจากการศึกษาที่ใช้ระบบ viral vector ที่ออกแบบขึ้นมา  แต่ผลลัพธ์เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นโอกาสผิดพลาดจากวัคซีน SARS-CoV-2 ในปัจจุบัน
    เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียสามารถพัฒนาการดื้อยาต้านจุลชีพได้ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องพัฒนายาอย่างต่อเนื่องเพื่อตามแบคทีเรียให้ทัน และการไม่หยุดนิ่งของโรคไข้หวัดใหญ่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวัคซีนทุกปี  ในทำนองเดียวกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องพัฒนาวัคซีนต่อไปเช่นเดียวกัน   มาตรการป้องกันและการบำบัดโรคยังมีความสำคัญ เพราะผลลัพธ์ดังกล่าวแสดงว่า โควิด-19 อาจไม่หายไปในเร็ว ๆ นี้