การทดลองวัคซีนบำบัดเอชไอวีแสดงความสำคัญของการควบคุมด้วยยาหลอก

SciTransl Med 2017 Dec 6

วัคซีนบำบัดไม่สามารถควบคุมการเพิ่มจำนวนเชื้อเอชไออีได้ระหว่างการรักษาด้วยยาต้านไวรัส  ในขณะที่การยับยั้งไวรัสในอัตราสูงในกลุ่มที่ใช้ยาหลอกแสดงให้เห็นเหตุผลว่าทำไมการควบคุมจึงมีความสำคัญมาก
          กลยุทธ์หนึ่งที่กำลังติดตามศึกษาอยู่เพื่อนำไปสู่การทุเลาของโรคโดยไม่ใช้การบำบัดด้วยยาต้านไวรัส(antiretroviral therapy (ART)–free remission) ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี คือ การให้วัคซีนบำบัด  คณะผู้วิจัยที่ NIH ได้รายงานผลการทดลองของวัคซีนบำบัดกับผู้ที่เข้าร่วมการศึกษาซึ่งเริ่มใช้ยาต้านไวรัสระหว่างการติดเชื้อเฉียบพลันหรือเมื่อแรกเริ่มติดเชื้อ
          มีการสุ่มให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับยาหลอก (จำนวนตัวอย่าง n=16) หรือวัคซีนบำบัด (n=15) การรักษาประกอบด้วยการเตรียมวัคซีน plasmid DNA (pDNA) ซึ่งบรรจุยีนที่เข้ารหัสโปรตีนเอชไอวีหลายชนิด ตามด้วยการเสริมเวกเตอร์หรือตัวนำชนิดไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอลง (attenuated viral vector) ซึ่งแสดงเป็นยีนเอชไอวีเดี่ยวหลังจากเสร็จการฉีดวัคซีน ได้หยุดยา ART เป็นเวลา 16 สัปดาห์  โดยมีการติดตามผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง  เกณฑ์ของการเริ่มใช้ยา ART อีกครั้ง ได้แก่ ระดับ HIV RNA >50,000 สำเนา/มล. อย่างต่อเนื่อง หรือการลดลงอย่างต่อเนื่องของจำนวน CD4-cell
          ผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบทั้งหมดมีจำนวนเอชไอวีเพิ่มกลับมาระหว่างดำเนินการรักษา แต่บางคนกลับควบคุมไวรัสในเลือด (viremia) ลงมาถึงต่ำกว่า 400 สำเนา/มล. (ร้อยละ 26 ในกลุ่มยาหลอก ร้อยละ 14 ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน)
          กลุ่มวัคซีนและกลุ่มยาหลอกมีระดับ HIV RNA เหมือนกัน ณ ตอนสิ้นสุดการรักษา ไม่มีกรณีเกิดอาการของรีโทรไวรัสเฉียบพลัน(acute retroviral syndrome) หรือเหตุการณ์ร้ายอื่นที่มีนัยสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับการหยุด ART
          วัคซีนเพิ่มการตอบสนอง T-cell เจาะจงต่อเอชไอวีเพียงเล็กน้อย
          จำเป็นต้องมีวัคซีนซึ่งมีความสามารถมากกว่าวัคซีนในการทดลองครั้งนี้ ถ้าเราต้องการบรรจุความสำเร็จในการบรรเทาโรคผ่านกลไกภูมิคุ้มกันวิทยาโดยไม่ใช้ยา ART   การยับยั้งไวรัสในเลือดทันทีในอัตราที่สูงซึ่งพบจากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการให้มีการควบคุมด้วยยาหลอก (placebo control) ขณะที่ดำเนินการประเมินกลยุทธ์ใหม่ การทดลองวัคซีนที่มีกลุ่มเดียวก่อนหน้านี้แสดงถึงการลดลงของเชื้อเอชไอวีในอัตราที่เทียบได้กับที่พบในกลุ่มยาหลอกของการศึกษาครั้งนี้ เราอาจถูกชักจูงไปสู่บทสรุปที่ยังไม่สมบูรณ์และมีความผิดพลาดเกี่ยวกับสรรพคุณของวัคซีน