การศึกษาครั้งใหม่หลายชิ้นรายงานถึงผลที่ขัดแย้งเกี่ยวกับการให้ยาสเตียรอยด์กับสารน้ำคริสตอลลอยด์ (crystalloid) แก่ผู้ป่วยที่มีอาการช็อกเหตุพิษติดเชื้อ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในห้องผู้ป่วยหนัก
มีการเผยแพร่การศึกษา 3 ชิ้น ที่นำไปสู่การอภิปรายอย่างกว้างขวางในแวดวงของการรักษาผู้ป่วยวิกฤตใน New England Journal of Medicine 2 ใน 3 ชิ้น เน้นการใช้ corticosteroids ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (septic shock) ส่วนในการศึกษาชิ้นที่ 3 คณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบว่า การเลือกใช้คริสตอลลอยด์ (crystalloid) ให้ผู้ป่วยในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Unit: I.C.U.) มีผลต่อผลการรักษาหรือไม่ การทดลองเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาหรือไม่ ควรให้ยาสเตียรอยด์แก่ผู้ป่วยภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อหรือไม่
ประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการใช้ corticosteroids เพื่อรักษาผู้ป่วยในภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อมีมานานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว
การทดลอง 2 ครั้งใหม่นี้ ได้เพิ่มการอภิปรายถกเถียงกันมากขึ้น แต่อาจจะไม่มีข้อยุติ เพราะการทดลองก่อให้เกิดผลที่มีความขัดแย้งกันบางส่วน
ในการทดลอง APROCCHSS พบว่า อัตราการเสียชีวิต 90 วัน ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทั้ง glucocorticoid hydrocortisone (50 mg ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 สัปดาห์) กับ mineralocorticoid ludrocortisone ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (ร้อยละ 43 เทียบกับ ร้อยละ 49; NEJM JW Gen Med Mar 1 2018 และ N Engl J Med 2018; 378:797)
ในทางตรงกันข้าม การทดลองอีกชิ้นหนึ่ง ADRENAL เป็นการเปรียบเทียบการใช้ hydrocortisone ขนานเดียวกับยาหลอก และอัตราการเสียชีวิตเกือบจะเหมือนกันทั้ง 2 กลุ่ม คือ ประมาณร้อยละ 28 (NEJM JW Gen Med Apr 15 2018 and N Engl J Med 2018; 378:809)
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการทดลองดังกล่าว คือ การใช้ mineralocorticoid และอัตราการเสียชีวิตโดยรวมที่สูงกว่า (แสดงให้เห็นถึงประชากรผู้ป่วยที่ป่วยมากขึ้น) ในการทดลอง APROCCHSS ประเด็นที่น่าสังเกตในการทดลองทั้ง 2 คือ ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อสั้นกว่าในกลุ่มสเตียรอยด์ ในการทดลอง ADRENAL การทดลองนี้แสดงถึงการใช้เวลาน้อยลงในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก ผลข้างเคียงของ corticosteroid มีน้อยมากในการทดลองทั้ง 2
ในตอนนี้การทดลองหลาย ๆ ครั้งได้แสดงว่า สเตียรอยด์ลดระยะเวลาของภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อให้สั้นลง ถ้าผลลัพธ์นี้ช่วยลดระยะเวลาในการอยู่ห้องดูแลผู้ป่วยหนักอย่างที่ปรากฏใน ADRENAL การใช้ยาสเตียรอยด์อาจส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวในบางราย อีกนัยหนึ่ง แม้ผลดีที่มีต่ออัตราการเสียชีวิตจะเล็กน้อย แต่ผลทุติยภูมิอาจคุ้มค่ากับการรักษา ในเมื่อค่าใช้จ่ายต่ำ และไม่ปรากฏอันตรายจากการให้ยาสเตียรอยด์ขนาดปานกลางในระยะเวลาค่อนข้างสั้น
หลังจากคุยกับผู้ร่วมงานหลายคนในซีแอตเทิลและทั่วประเทศ Dr. Patricia Kritek รู้สึกว่า การศึกษาดังกล่าวจะสนับสนุนความนิยมวิธีรักษาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีอะไรก็ตาม ผู้ที่ก่อนหน้านี้สงสัยเกี่ยวกับยาสเตียรอยด์ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีปฏิบัติของตน ขณะที่แพทย์ซึ่งมีเกณฑ์ขีดกั้นต่ำในการให้ยาสเตียรอยด์จะยังปฏิบัติเช่นนั้นต่อไป และเห็นว่า APROCCHSS สนับสนุนวิธีปฏิบัติของตน
เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่น ๆ Dr. Patricia Kritek จะใช้ยา glucocorticoids ต่อไปกับผู้ป่วยภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ refractory ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการเพิ่มขนาดของยากระตุ้นความดันโลหิต (vasopressors) หรือเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากระตุ้นความดันโลหิตหลายขนาน ความเห็นที่มีต่อการเพิ่มยา fludrocortisone ยังแตกต่างกัน สำหรับ Dr. Patricia Kritek ยา fludrocortisones มีความเสี่ยงต่ำและราคาไม่แพง ดังนั้น อาจจะเพิ่มยานี้เมื่อเริ่มใช้ยา glucocorticoids
การทดลองชิ้นที่ 3 (SMART) เกิดขึ้น เนื่องจากมีความกังวลต่อผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับไตจากปริมาณคลอไรด์ที่สูงในน้ำเกลือปกติ
นักวิจัยได้เปรียบเทียบน้ำเกลือปกติกับ “balanced” crystalloid solutions (คือ ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์ (lactated Ringer's solution) หรือ พลาสมา-ไลท์ เอ (Plasma-Lyte A)) ในผู้ป่วยมากกว่า 15.000 คน ในห้อง I.C.U. ที่ Vanderbilt University ผลลัพธ์เบื้องต้น (primary outcome) คือ การเกิดกรณีที่เป็นผลเสียรุนแรงต่อไตหลาย ๆ ลักษณะ ได้แก่ การเสียชีวิต การบำบัดด้วยการเปลี่ยนไต หรือการที่ creatinine เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
พบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือปกติมีผลลัพธ์เบื้องต้นเกิดขึ้นมากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่ใช้ balanced solution (ร้อยละ 15 เทียบกับ ร้อยละ 14) ความแตกต่างเล็กน้อยนี้มีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับผลลัพธ์หลายส่วนประกอบกัน แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญสำหรับแต่ละส่วนประกอบ (NEJM JW Gen Med Apr 15 2018 และ N Engl J Med 2018; 378:819)
ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนของ Dr. Patricia Kritek กับแพทย์เวชบำบัดวิกฤตคนอื่น ๆ แพทย์ส่วนใหญ่ บอกว่า กำลังเปลี่ยนวิธีปฏิบัติไปใช้วิธีของ lactated Ringer's ซึ่งรู้สึกพอใจมากกว่า แทนการให้น้ำเกลือปกติ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีลักษณะเฉพาะตัว (เช่น ผู้ที่สมองได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก)
ดังนั้น แม้การถกอภิปรายยังคงมีต่อไปในประเด็นที่ว่าจะตีความผลลัพธ์ของ SMART อย่างไร และแม้ผู้เชี่ยวชาญจะเตือนให้ระวังเกี่ยวกับการใช้การทดลองแบบศูนย์ทดลองเดียวเพื่อผลักดันให้มีการนำไปปฏิบัติ แต่ผลการศึกษาหลายชิ้นสนับสนุนให้ใช้วิธีปฏิบัติแบบ lactated Ringer's ก่อนสำหรับผู้ป่วยที่วิกฤตที่สุดซึ่งต้องการการช่วยชีวิตด้วยของเหลว
มุมมองการใช้สเตียรอยด์และน้ำเกลือในไอ.ซี.ยู.
Patricia Kritek, NEJM