เด็กอาเจียนหลังจากศีรษะบาดเจ็บไม่น่ากระเทือนถึงในกะโหลก

Pediatrics 2018 Apr

เด็กที่เกิดอาเจียนหลังจากศีรษะได้รับบาดเจ็บมีเพียงร้อยละ 0.2 ที่มีปัญหาบาดเจ็บภายในกะโหลกศีรษะ
          ในการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นทุติยภูมิจาก Australasian Pediatric Head Injury Rule Study คณะผู้วิจัยได้ศึกษาการเกิดขึ้นทั่วไปของภาวะสมองบาดเจ็บจากการกระแทกซึ่งมีความสำคัญทางคลินิก (clinically important Traumatic Brain Injury: ciTBI) และภาวะสมองบาดเจ็บจากการกระแทกซึ่งพบโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (traumatic brain injury identified on computed tomography: TBI-CT) ในเด็กหลังจากศีรษะได้รับบาดเจ็บซึ่งมีอาการอาเจียนอย่างเดียว
          คำนิยามของ ciTBI คือ การบาดเจ็บที่ศีรษะซึ่งต้องการการรักษาพยาบาลอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ กระบวนการรักษาทางประสาทศัลยศาสตร์ การใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 คืนขึ้นไป เนื่องจากมีสัญญาณหรืออาการป่วยต่อเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ  มีการนิยามอาการอาเจียนอย่างเดียวว่าเป็นการอาเจียนที่ปราศจากตัวพยากรณ์อื่น ๆ ของการบาดเจ็บที่ศีรษะตามกฎของ Pediatric Emergency Care Applied Research Network (PECARN) และ Children's Head Injury Algorithm for the Prediction of Important Clinical Events (CHALICE)
          จากเด็ก 19,920 คน ซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี  มี 3,389 คน (ร้อยละ 17) เกิดอาเจียน  ในจำนวนนี้มีเด็ก 1,006 คน (ร้อยละ 30) อาเจียนอย่างเดียว  พบเพียง 1 คน (ร้อยละ 0.1) มี ciTBI และ 2 คน (ร้อยละ 0.2) มี TBI-CT  ไม่มีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีซึ่งอาเจียนอย่างเดียวแล้วมี ciTBI หรือ TBI-CT
          ในการวิเคราะห์การถดถอยพหุตัวแปร ตัวพยากรณ์ที่มีนัยสำคัญของ ciTBI ในผู้ป่วยที่อาเจียนอย่างเดียว ได้แก่ สัญญาณของกะโหลกศีรษะแตก (odds ratio, 80), การเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ (OR, 2.4), อาการปวดศีรษะ (OR, 2.3) และพฤติกรรมผิดปกติ (OR, 1.9); ตัวพยากรณ์ TBI-CT ในเด็กที่อาเจียนอย่างเดียว ได้แก่ สัญญาณของกะโหลกศีรษะแตก (OR, 113),  ความกังวลต่อการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ (OR, 6.8), อาการปวดศีรษะ(OR, 2.6) และพฤติกรรมผิดปกติ (OR, 1.8)
          เด็กที่ศีรษะบาดเจ็บและมีอาเจียนอย่างเดียวมีโอกาสสูงที่จะไม่มีการบาดเจ็บภายในกะโหลก ถ้าไม่ได้สงสัยว่ามีการกระแทกที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ การอาเจียนอย่างเดียวไม่ควรจะต้องมีการเอกซเรย์ศีรษะ  ควรเฝ้าสงเกตเด็กกลุ่มนี้จนกว่าเด็กจะสามารถรับอาหารได้โดยไม่อาเจียนและแพทย์ผู้ให้การรักษารู้สึกสบายใจว่า ผู้ป่วยมีภาวะคงที่โดยไม่มีอาการเพิ่มเติมจากศีรษะที่บาดเจ็บ