ตรวจหน้าที่ของเกล็ดเลือดพยากรณ์เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ

J Am Heart Assoc 2018 Jun 1

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดส่วนใหญ่ หากเกิดปัญหาหลอดเลือดขึ้นอีก การรักษาด้วยยาต้านเกล็ดเลือดจะปกป้องผู้ป่วยไม่ได้  การวัดการยับยั้งหน้าที่ของเกล็ดเลือดด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดรักษา โดยใช้การทดสอบในห้องปฏิบัติการซึ่งมีสหสัมพันธ์กับประสิทธิผลทางคลินิกของยาเหล่านี้ อาจช่วยให้แพทย์ออกแบบการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้
          นักวิจัยได้ดำเนินการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อตรวจทานข้อมูลที่มีทั้งหมดเกี่ยวกับการทำหน้าที่หรือปฏิกิริยาของเกล็ดเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (ischaemic cerebrovascular disease: CVD) จากการทดลองนอกร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รับการรักษาด้วยยาแอสไพริน (aspirin), ยาไดไพริดาโมล (dipyridamole) หรือ โคลพิโดเกรล (clopidogrel)
          การศึกษาได้เน้นความสำคัญของข้อมูลจากเครื่องอุปกรณ์วิเคราะห์การทำหน้าที่ของเกล็ดเลือดทั้งหมดที่มีอยู่ (PFA-100®, VerifyNow® และ Multiplate®) โดยมีการทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับกลไกทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่อาจมีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่สูงขึ้นในระหว่างการรักษา (High on - Treatment Platelet Reactivity: HTPR) ด้วยยาต้านเกล็ดเลือดกับผู้ป่วย CVD
          คณะผู้วิจัยได้พบบทความที่อาจเกี่ยวข้อง 249  ชิ้น โดยมีต้นฉบับบทความ 93 ชิ้น ที่เป็นไปตามเกณฑ์
          พบว่า การเกิด HTPR ใน CVD จากการทดลองภายนอกร่างกาย มีความเบี่ยงเบนระหว่างร้อยละ 3 – 62 จากการรักษาด้วยยาแอสไพรินอย่างเดียว ร้อยละ 8 - 61 จากการรักษาด้วยยาโคลพิโดเกรลอย่างเดียว และร้อยละ 56-59 เมื่อเพิ่มยาไดไพริดาโมลให้กับยาแอสไพรินในระยะเริ่มแรก  ระยะกึ่งเฉียบพลัน หรือระยะปลาย หลังจากเริ่มมีปัญหาโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (TIA/stroke)
          ในการศึกษาครั้งหนึ่ง พบว่า การเกิด HTPR กับยาแอสไพรินด้วยเครื่องวิเคราะห์ PFA - 100 สูงกว่า VerifyNow (p < 0.001)
          รายงานการศึกษาซึ่งประเมินอิทธิพลของความแปรผันหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic polymorphisms) ต่อ HTPR ในผู้ป่วยนั้นยังมีอยู่จำกัด และจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ความตรงในการศึกษาขนาดใหญ่แบบหลายศูนย์ จากข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วย CVD ในอัตราส่วนที่สำคัญมี HIPR จากการทดลองนอกร่างกายกับการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดตามใบสั่งยา และการเกิด HIPR จะแปรผันตามคำนิยามและการทดสอบที่ใช้
          มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการศึกษาร่วมกันหลายศูนย์แบบมองไปข้างหน้าซึ่งเป็นการศึกษาขนาดใหญ่พอ เพื่อดูว่าการประเมินแบบภาพรวมของ HTPR ณ ความเค้นเฉือนต่ำและสูงด้วยรูปแบบการทดสอบหน้าที่ของเกล็ดเลือดทั้งหมด โดยประสานกับข้อมูลเภสัชพันธุศาสตร์ จะช่วยพิสูจน์ความสามารถของเราได้หรือไม่ในการพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดซ้ำอีกในผู้ป่วย CVD และจะช่วยสนับสนุนการป้องกันการเกิดขึ้นครั้งที่ 2 หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว หรือโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดแล้ว