ประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยในการป้องกันติดเชื้อ COVID-19

นพ. Stephen G. Baum (ภาควิชา Microbiology and Immunology ของโรงเรียนแพทย์ Albert Einstein College of Medicine ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) ทบทวนการศึกษาของ Kristin L. Andrejko และคณะ (California COVID-19 Case-Control Study Team) เกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากประเภท N95  ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ที่เผยแพร่ใน Morbidity and Mortality Weekly Report (MMWR) รายสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2022
          แม้หน้ากากทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ หน้ากากผ้า (cloth mask), หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask) และหน้ากากชนิด N95 (respirator) ต่างก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม หน้ากากชนิด N95 มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อโรค COVID-19
          นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 มีการอภิปรายถกเถียงกันค่อนข้างมาก (บ้างก็เป็นประเด็นทางการเมือง หรือบ้างก็เป็นประเด็นทางวิชาการ) เกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากากชนิดต่าง ๆ ในการป้องกันการติดเชื้อ SAR-CoV-2 ขณะที่มีผลการศึกษาในห้องทดลองพบว่า หน้ากากชนิดต่าง ๆ สามารถกรองอนุภาคขนาดเท่ากับเชื้อไวรัสจากอากาศได้ สำหรับการศึกษาของ California COVID-19 Case-Control Study Team เป็นการเปรียบเทียบอัตราการมีผลตรวจเชื้อ SAR-CoV-2 ที่เป็นบวกในหมู่ชาวอเมริกันในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจำนวนหนึ่งที่สวมหน้ากากอย่างเคร่งครัด และที่ไม่ได้สวมหน้ากากขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ร่ม ขณะเดียวกันยังมีการประเมินเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ระหว่างหน้ากาก 3 ชนิด ได้แก่ หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากชนิด N95
          การศึกษานี้ของ California COVID-19 Case-Control Study Team ทำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม ปี 2021 ในหมู่ชาวอเมริกันในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จำนวน 652 คน ที่มีผลตรวจ SARS-CoV-2 เป็นบวก (case-participants) และชาวอเมริกันในมลรัฐเดียวกัน จำนวน 1,176 คน ที่มีผลตรวจ SARS-CoV-2 เป็นบวก (control-participants) ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า 44 คน (6.7%) ในกลุ่ม case-participants รายงานว่าไม่เคยสวมหน้ากาก หรือหน้ากากชนิด N95 เลยขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ร่ม เทียบกับ 42 คน (3.6%) ในกลุ่ม control-participants โดย 393 คน (60.3%) ในกลุ่ม case-participants รายงานว่าสวมหน้ากาก หรือหน้ากากชนิด N95 อยู่ตลอดเวลาขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ร่ม เทียบกับ 819 คน (69.6%) ในกลุ่ม control-participants
          การสวมหน้ากาก ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากชนิดใด หรือหน้ากากชนิด N95 ขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ร่ม มีความสัมพันธ์กับความเป็นไปได้ที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญกับการที่จะมีผลตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบวก เมื่อเทียบกับการไม่ได้สวมหน้ากากขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ร่ม (adjusted odds ratio = 0.51; 95% confidence interval 0.29-0.93) การสวมหน้ากากชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือหน้ากากชนิด N95 อยู่ตลอดเวลาขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ร่ม มีความสัมพันธ์กับการมีผลตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบวก น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการไม่เคยสวมหน้ากาก หรือหน้ากากชนิด N95 เลยขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ร่ม (adjusted odds ratio = 0.44; 95% confidence interval 0.24–0.82)
          การสวมหน้ากากชนิด N95/KN95 มีความสัมพันธ์กับการมีผลตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบวกน้อยที่สุด (adjusted odds ratio = 0.17; 95% confidence interval 0.05–0.64) รองลงไปเป็นการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (adjusted odds ratio = 0.34; 95% confidence interval 0.13–0.90) ขณะที่การสวมหน้ากากผ้ามีความสัมพันธ์กับการมีผลตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบวกอยู่ในอันดับ 3  (adjusted odds ratio = 0.44; 95% confidence interval 0.17–1.17)
          ความคิดเห็น: ดูจะเป็นสิ่งที่น่าเย้ยหยันกับการที่ข้อมูลประสิทธิภาพของหน้ากากชนิดต่าง ๆ ในการป้องกันการติดเชื้อโรค COVID-19 ได้รับการเผยแพร่ออกมาในยามที่การสวมหน้ากากลดลง (น่าจะเป็นผลมาจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 และผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 ที่ต้องเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง) อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แน่นอนอย่างยิ่งก็คือว่า นี่ไม่ใช่การแพร่ระบาดใหญ่ครั้งสุดท้ายของเชื้อก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่แพร่กระจายทางอากาศ และผลของการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์เพื่อให้เรารู้กันตั้งแต่ต้นว่า การสวมหน้ากากสามารถช่วยจำกัดการแพร่ระบาดได้
          อ้างอิง: Andrejko KL et al. Effectiveness of face mask or respirator use in indoor public settings for prevention of SARS-CoV-2 infection — California, February–December 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2022 Feb 11; 71:212. (https://doi.org/10.15585/mmwr.mm7106e1. opens in new tab)