Tixagevimab/Cilgavimab สามารถป้องกัน symptomatic COVID-19

4 พฤษภาคม 2565: ทบทวนการศึกษาทางคลินิกของ Myron J. Levin และคณะ ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine (NEJM) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2022 โดย นายแพทย์ Rajesh T. Gandhi แห่งโรงเรียนแพทย์ Harvard Medical School มหาวิทยาลัย Harvard ในนคร Boston มลรัฐ Massachusetts ของสหรัฐอเมริกา และเป็นสมาชิกของ Infectious Diseases Society of America (IDSA) และ COVID-19 Treatment Guidelines Panels ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health หรือ NIH)
          การได้รับยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab (เดิมชื่อ AZD7442 แต่ปัจจุบันมีชื่อทางการค้าว่า Evusheld) ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพียงโด๊สเดียว (300 มิลลิกรัม ที่ประกอบด้วย tixagevimab และ cilgavimab 2 เข็มแยกกัน เข็มละ 150 มิลลิกรัม ฉีดต่อเนื่องกัน) สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ COVID-19 แบบมีอาการ (symptomatic COVID-19) ลงได้ถึง 83%
          มีการใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab ทั้งในการรักษาและป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อก่อโรค COVID-19 นั่นก็คือ เชื้อ SARS-CoV-2 (severe acute respiratory syndrome-coronavirus-2) โดยปัจจุบันการศึกษาทางคลินิกในระยะที่ 3 ที่ชื่อว่า PROVENT ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab ในการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อก่อโรค COVID-19 ได้รับการเผยแพร่ออกมาแล้ว โดย PROVENT เป็นการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้พัฒนายาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab
          ในการศึกษานี้ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั้งที่ยังไม่ได้ติดเชื้อก่อโรค COVID-19 และผู้ที่ติดเชื้อก่อโรค COVID-19 แล้วแต่ยังไม่มีอาการของโรค COVID-19 ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมการศึกษา ซึ่งมีผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมอยู่ด้วยถึงประมาณ 3.8% แต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 แล้วจะถูกคัดออกจากการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 5,197 คน ที่ถูกสุ่ม (2:1) ให้ได้รับการฉีด placebo หรือได้รับการฉีดยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab เพียงโด๊สเดียว 300 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ (tixagevimab และ cilgavimab อย่างละ 150 มิลลิกรัม) ผลการศึกษาจากการติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นเวลาเฉลี่ย 6 เดือน หรือ 180 วัน พบว่ามีอุบัติการณ์ของ symptomatic COVID-19 เกิดขึ้น 0.3% ในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab เทียบกับ 1.8% ของกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีด placebo ทั้งนี้ เท่ากับว่ายาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab ลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการติดโรค COVID-19 แบบมีอาการลงได้ถึง 83% และไม่มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์รุนแรงใด ๆ เกิดขึ้นเลย ขณะที่ผลการศึกษาทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) ของยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab พบว่า การมีฤทธิ์ที่เสริมผสานกันด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของ tixagevimab และ cilgavimab ที่จับเข้ากับโปรตีนหนามของเชื้อก่อโรค COVID-19 หรือ SARS-CoV-2 คนละตำแหน่งกัน ช่วยให้มีระดับแอนติบอดีต่อเชื้อก่อโรค COVID-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 6 เดือน หลังจากได้รับยาแอนติบอดีแบบผสมตัวนี้          
          ความคิดเห็น : ด้วยข้อมูลของ PROVENT trial สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA จึงอนุมัติใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab เป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับป้องกันการติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือกำลังอยู่ในระหว่างการได้รับยากดภูมิ (immunosuppressant) และรวมถึงผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง (NEJM JW Infect Dis Feb 2022 and U.S. Food & Drug Administration 2021 Dec 10) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่ายาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab ไม่ค่อยมีผลต่อเชื้อ SARS-CoV-2 กลายพันธุ์สายพันธุ์ Omicron BA.1 ดังนั้น FDA จึงมีคำแนะนำในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ให้เพิ่มขนาดยาของยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab เป็น 600 มิลลิกรัม (tixagevimab และ cilgavimab อย่างละ 300 มิลลิกรัม) ส่วนผู้ทบทวนการศึกษานี้แนะนำให้ใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมระหว่าง tixagevimab และ cilgavimab เสริมเข้ากับการฉีดวัคซีน COVID-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องปานกลางถึงรุนแรง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิ

อ้างอิง : Levin MJ et al. Intramuscular AZD7442 (tixagevimab–cilgavimab) for prevention of Covid-19. N Engl J Med 2022 Apr 20; [e-pub]. (https://doi.org/10.1056/NEJMoa2116620. opens in new tab)