การศึกษาชี้การฉีดวัคซีน SARS-CoV-2 ช่วยผู้ป่วยมะเร็งรอดโควิด-19

ทุกคนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยมะเร็งมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ แม้จะเห็นว่าแนวโน้มของสถานการณ์ดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ลดลง แต่ก็ยังมีการผลิตวัคซีนป้องกันและวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันคนไข้มะเร็งจากโควิด-19 ที่คงอยู่ยืดเยื้อ OnCovid registry จึงศึกษาเปรียบเทียบการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นโควิด-19 ขณะที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในยุโรป รวมทั้งดูว่าสูตรวัคซีน SARS-CoV-2 สองหรือสามเข็มส่งผลต่อการป้องกันโควิด-19 ในคนไข้มะเร็งที่ได้รับวัคซีนกับไม่ได้รับวัคซีนอย่างไร
          ทั้งนี้ OnCovid เป็นทะเบียนของยุโรปที่เก็บข้อมูลผู้ป่วยจากศูนย์มะเร็ง 37 แห่ง ในสหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม และเยอรมนี โดยใช้ข้อมูลของผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจยืนยันติดเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วย RT-PCR และมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดเป็นก้อน (solid tumors) และกลุ่มโรคเลือดที่เป็นมะเร็ง (Hematologic Malignancy) ทั้งที่กำลังรักษามะเร็งอยู่หรือหยุดพักการรักษา (remission) โดยตัดข้อมูลของ 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม ออกไป เนื่องจากไม่ได้อัพเดทข้อมูลหลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2021 เป็นต้นมา จึงมีจำนวนผู้ป่วยที่นำมาวิเคราะห์จาก 34 ศูนย์ ในสหราชอาณาจักร สเปน และอิตาลี ทั้งสิ้น 3,473 คน
          ผลวิเคราะห์การศึกษา OnCovid registry พบว่า คนไข้มะเร็งที่เป็นโควิด-19 ในช่วงสายพันธุ์โอไมครอนระบาดมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 โดยตัวเลขการเสียชีวิตเฉียบพลันลดลงจากกว่า 30% เป็นต่ำกว่า 10% เช่นเดียวกัน อัตราการรักษาในโรงพยาบาล อาการแทรกซ้อนเนื่องด้วยโควิด-19 และความจำเป็นต้องใช้การบำบัดด้วยออกซิเจนก็ต่ำกว่า
          ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตในระดับสูงมากทั้งในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 และช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน
          แม้จะมีการสรุปว่า เชื้อของสายพันธุ์โอไมครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกายและวัคซีนได้ แต่การศึกษาชิ้นนี้ยังคงยืนยันผลของวัคซีนบูสเตอร์ mRNA ในการต่อต้านสายพันธุ์โอไมครอนในผู้ป่วยมะเร็งว่าแสดงผลที่ดี และสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน SARS-CoV-2 สำหรับใช้กับผู้ป่วยมะเร็งชนิดเป็นก้อน (solid tumors) และกลุ่มโรคเลือดที่เป็นมะเร็ง (Hematologic Malignancy)
          นอกจากนี้ การศึกษายังระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงสูงในการป่วยและการเสียชีวิตด้วยโควิด-19 จึงเห็นว่ามีความสำคัญที่จะต้องชี้ให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือมีความลังเลที่จะฉีดเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน

ข้อมูล:
 https://www.thelancet.com/journals/lanonc/article/PIIS1470-2045(22)00273-X/fulltext