แนวทางเวชปฏิบัติใหม่สำหรับโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น

ทบทวนรายงานของแพทย์หญิง Sarah E. Hampl (Children's Mercy Kansas City Center for Children's Healthy Lifestyles & Nutrition, University of Missouri-Kansas City School of Medicine, Kansas City, Missouri, USA) และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ James A. Feinstein
              คำแนะนำใหม่ ๆ ที่อ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับการจัดการกับโรคอ้วน หรือภาวะอ้วนลงพุงในเด็ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเข้มขั้น การรักษาด้วยยาและผ่าตัดกระเพาะอาหาร (bariatric surgery)
             โรคอ้วน หรือภาวะอ้วนลงพุง เป็นโรคที่มีความซับซ้อนและมีเหตุปัจจัยหลากหลายมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งกายภาพและสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นชาวอเมริกันมากกว่า 14 ล้านคน สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยกุมารแพทย์และแพทย์สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการคัดกรอง ประเมิน และจัดการกับโรคอ้วนในเด็ก ส่วนแนวทางการป้องกันโรคอ้วนในเด็กของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกากำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้
คำแนะนำหลัก ๆ ประกอบด้วย
              • เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และมีดัชนีมวลกาย (body mass index หรือ BMI) ตั้งแต่
              • 85th percentile ขึ้นไป ควรได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการประเมินสุขภาพจิตและพฤติกรรม ปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม (social determinants of health) ความดันโลหิต และตรวจเลือดตามความเหมาะสมของอายุ (เช่น ดูระดับไขมัน ค่าการทำงานของตับ และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด)
              • การรักษาหลักก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเข้มข้น intensive health behavior and lifestyle treatment หรือ IHBLT ซึ่งเป็นโปรแกรมรายบุคคลที่อาศัยการสนับสนุนของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก โดยเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนจำเป็นต้องเข้าโปรแกรมนี้ชนิดตัวต่อตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 26 ชั่วโมง ในช่วง 3 เดือน ถึง 1 ปี
             • การรักษาด้วยยาสามารถใช้เสริมเข้ากับ IHBLT สำหรับเด็กวัยรุ่นบางรายที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยยาที่สามารถเลือกใช้ได้ เช่น metformin, orlistat, glucagon-like peptide-1 receptor agonists, topiramate) ด้วยการพิจารณาข้อบ่งใช้ ประโยชน์ และผลข้างเคียงของยาแต่ละตัวเป็นสำคัญ
            • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป และเป็นโรคอ้วนรุนแรง คือ มีดัชนีมวลกายมากกว่า 120% ของ 95th percentile และมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรได้รับการประเมินทางด้าน metabolic และพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร


ความคิดเห็น : แนวทางเวชปฏิบัติชุดนี้มีความยาวถึง 100 หน้า อ่านแล้วเหมือนกับตำราเรื่องโรคอ้วนที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยหลากหลาย ทั้งด้านสภาพแวดล้อม ด้านสังคม และปัจจัยทางชีววิทยา คำแนะนำหลัก ๆ ที่สรุปไว้ข้างต้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น
              การให้การดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากที่เป็นโรคอ้วนที่มาพบแพทย์ในแต่ละวัน เป็นสิ่งที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง อุปสรรคยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดที่จะใช้ในการเริ่มให้การรักษาเด็กและวัยรุ่นเหล่านี้ ขณะที่โปรแกรม IHBLT ก็มีรายละเอียดยาวเหยียดที่ต้องใช้เวลานานมาก สิ่งที่ดิฉันและเพื่อนกุมารแพทย์มีความกังวลกันมากก็คือ จะทำอย่างไรให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศสามารถจ่ายเงินอุดหนุนและนำเอาโปรแกรม IHBLT ไปใช้ปฏิบัติได้อย่างครอบคลุมกับกลุ่มประชากรคนไข้โรคอ้วนขนาดใหญ่ที่เป็นเด็กและวันรุ่น นอกจากนี้ ดิฉันยังมีความกังวลเกี่ยวกับยาหลายตัวที่กำลังจะได้รับการอนุมัติสำหรับใช้รักษาโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น เพราะยาเหล่านี้มีข้อมูลสนับสนุนน้อยมากเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาวในเด็กและวัยรุ่น


 


อ้างอิง: Hampl SE et al. Clinical practice guideline for the evaluation and treatment of children and adolescents with obesity. Pediatrics 2023 Feb 1; 151:e2022060640. (https://doi.org/10.1542/peds.2022-060640)