โควิด XBB.1.16: อันตรายแค่ไหน เสี่ยงกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยและทั่วโลกหรือไม่

Getty Images
รูปที่ 1 อาการเยื่อบุตาอักเสบ เป็นหนึ่งในอาการที่ไม่พบบ่อยในโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ แต่พบในโควิด XBB.1.16
17 เมษายน 2023

มหาวิทยาลัยแห่งโตเกียวเตือนว่า โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือ “อาร์คตูรุส” มีศักยภาพจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ ไทยพบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้แล้ว 27 ราย มีการพบการกลายพันธุ์ย่อย ๆ ของโควิดสายพันธุ์นี้ และผู้เชี่ยวชาญในไทยคาดสายพันธุ์ XBB.1.16 จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยเช่นเดียวกับทั่วโลกในอีกไม่นานนี้
                 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. กรมควบคุมโรคเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ช่วงสงกรานต์ (9-15 เม.ย.) พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ถือว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากสัปดาห์ก่อนหน้า
                 นอกจากนี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้น 58% และ 36% ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยสัปดาห์ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย และล้วนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วนานเกินกว่า 3 เดือน จึงเรียกร้องให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
                 นอกเหนือจากความวิตกถึงสถานการณ์โควิดที่คาดพุ่งสูงขึ้นช่วงสงกรานต์ สังคมไทยยังกำลังวิตกถึงการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 หรือ “อาร์คตูรุส” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในการสังเกตการณ์ขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. หลังพบว่ามีผู้ป่วยในไทยแล้ว 27 ราย และเสียชีวิต 1 ราย จากข้อมูลจนถึงวันที่ 17 เม.ย.
                “กรณีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เชื้อสายพันธุ์ล่าสุดนี้มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก” นพ.ธเรศ กล่าว
               “แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่า อาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย.)”
                 สำหรับผู้ป่วยในไทยนั้น นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อยู่ในวัยทำงาน และอาการป่วยไม่รุนแรง


 

Getty Images
รูปที่ 2 เยื่อบุตาอักเสบ หรืออาการตาแดง
               


                 ส่วนอาการสำคัญของ XBB.1.16 ที่ประเทศอินเดียรายงานว่ามี “เยื่อบุตาอักเสบ” ยังไม่มีรายงานในผู้ป่วยที่พบในไทย “ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า XBB.1.16 จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการกลายพันธุ์ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทางกรมควบคุมโรคก็ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้มารับวัคซีนโควิด ถ้าหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน” นพ.โสภณ กล่าว
                สำหรับโควิดสายพันธุ์หลักในไทยเวลานี้ คือ XBB.1.5 โดยสัดส่วนสายพันธุ์ต่าง ๆ ของโอมิครอนที่กำลังระบาดในไทย จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID มีดังนี้
- XBB.1.5 - ประมาณ 47%
- XBB.1.9.1 ประมาณ 27%
- XBB.1.16 ประมาณ 13%
- XBB.1.5.7 ประมาณ 7%
- XBB.1.16.1 ประมาณ 7%
                 หากนับโควิดทุกสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในไทย โควิด XBB.1.16 คิดเป็น 3% ของผู้ป่วยเท่านั้น ในช่วงวันที่ 1 ก.พ.–16 เม.ย. (จากการถอดรหัสพันธุกรรม 410 ตัวอย่าง)


 

 


Getty Images
รูปที่ 3


ทำความรู้จักโควิด XBB.1.16
                 โควิดสายพันธุ์ XBB.1.1.16 หรือที่เรียกว่า “อาร์คตูรุส” เป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า กำลังสังเกตการณ์สายพันธุ์นี้ เพราะ “มีศักยภาพสูงทำให้จำเป็นต้องเฝ้าระวังให้ดี”
                  โควิด XBB.1.16 ตรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะขึ้นบัญชีเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ทั้งนี้ โควิดสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ BA.2.10.1 และ BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์หลัก คือ โควิดโอมิครอน BA.2
                 องค์การอนามัยโลกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า ตรวจพบผู้ป่วยสายพันธุ์ XBB.1.1.16 แล้วกว่า 800 ราย ใน 22 ประเทศ ส่วนใหญ่ในอินเดีย และแทนที่สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในปัจจุบันอื่น ๆ ก่อนที่จะเพิ่มเป็นกว่า 3,000 รายทั่วโลก จนถึงกลางเดือน เม.ย.

Getty Images
รูปที่ 4


ทำความรู้จักโควิด XBB.1.16
                 โควิด XBB.1.16 มีคุณลักษณะคล้ายสายพันธุ์ XBB.1.5 แต่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมที่หนามโปรตีน ซึ่งผลการทดลองในห้องแล็บ พบว่า ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสทำให้เกิดอาการของโรคได้ง่ายขึ้น
                 ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียวในญี่ปุ่น พบว่า โควิด XBB.1.16 สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ XBB.1 และ XBB.1.5 ราว 1.17-1.27 เท่า พร้อมยอมรับว่า โควิดสายพันธุ์นี้มีศักยภาพที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ในอนาคตอันใกล้ ไม่เพียงเท่านั้น ผลการทดสอบยังพบว่า โควิดสายพันธุ์นี้ “มีฤทธิ์ต้านทาน” แอนติบอดีโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
                ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ วันที่ 17 เม.ย. ว่า โควิด XBB.1.16 ถือเป็นโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่สุดในเวลานี้ จากศักยภาพ “หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด เกาะเซลล์ได้ดีที่สุด... และกลายพันธุ์ได้ง่าย” โดยมีศักยภาพการติดเชื้อง่ายมากกว่าสายพันธุ์หลักในไทย คือ BN.1.3 ราว 200% และเหนือกว่า XBB.1.5 (สายพันธุ์โอมิครอนหลักในไทย) ถึง 89%
                “โลกกังวลที่สุด... เพราะโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 อาจมาแทนที่ทุกสายพันธุ์” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว แต่ย้ำว่า แม้จะติดเชื้อได้เร็ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น
                 สิ่งที่น่าวิตกที่สุดของโควิดสายพันธุ์นี้ คือ “จะมีลูกหลานออกไปอีกหรือเปล่า” เพราะอย่างกรณีในไทย พบผู้ป่วยสายพันธุ์ย่อยของโควิด XBB.1.16 แล้ว คือ ).1.16.1
                 “มันเป็นสายพันธุ์ที่เราต้องจับตา” ดร. มาเรีย แวน เคอร์คโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคขององค์การอนามัยโลกด้านโควิด แถลงข่าวเมื่อ 29 มี.ค. “มันแพร่กระจายมาหลายเดือนแล้ว”
                 อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงเรื่องความรุนแรงของอาการต่อบุคคลหรือประชากรจากอิทธิพลของโควิดสายพันธุ์นี้ “แต่เราจะเฝ้าจับตาต่อไป”
ไทยรับมืออย่างไร
                 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ และความวิตกถึงโควิด XBB.1.16 ว่า ตอนนี้ตนเป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ได้กำชับให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้มาปฏิบัติหน้าที่ตามที่เคยมอบนโยบายไปก่อนหน้านี้
                “เพราะตอนนี้ไม่สามารถมอบนโยบาย ทำได้เพียงสนับสนุนเท่านั้น หากผู้บริหารเสนออะไรมาที่ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. หรือสิ่งที่จำเป็น ผมต้องสแตนด์บายรอเพื่อให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ไม่กล้าใช้คำว่าสั่งการอะไร” นายอนุทิน กล่าว
                 ตอนนี้ ปลัด สธ. กำลังเปิดศูนย์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมรับมือแล้ว พร้อมขอให้ประชาชนมารับวัคซีนมากขึ้น เพราะลดระดับความรุนแรงของอาการของโรคได้
                 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กชี้ การระบาดรอบใหม่เพิ่งเริ่มต้น และสิ่งที่ควรรู้ในระลอกนี้มีการแบ่งออกเป็น 9 ข้อหลักด้วยกัน สรุปได้ดังนี้
                 - การระบาดเพิ่งเริ่มต้นและจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. ไปถึงจุดสูงสุดเดือน มิ.ย. และจะไปลดลงในเดือน ก.ย. ตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ
                 - กลางเดือน พ.ค. เป็นฤดูฝน นักเรียนเปิดเทอม และติดโควิดเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้มีโอกาสเป็นได้อีก
                 - สายพันธุ์ของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ ม.ค. เป็นต้นมา สายพันธุ์จะเป็น โอมิครอน BA.2.75 และเปลี่ยนมาเป็น XBB.1.5 ในเดือน มี.ค. และกำลังจะเปลี่ยนเป็น XBB.1.16 หลังจากนี้อีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม ก็ยังอยู่ในตระกูล XBB
                 - สายพันธุ์ BA.2.75 ระบาดในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยตามหลังอเมริกา ในอเมริกาจากสายพันธุ์ BA.2.75 เปลี่ยนเป็น BQ.1.1 แล้วจึงมาเป็น XBB.1.5 แล้วเดือนที่ผ่านมา มีสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่งในหนามแหลมเกิดขึ้นที่อินเดีย คือ สายพันธุ์ XBB เช่นเดียวกันเรียกว่า XBB.1.16 แพร่กระจายได้เร็วกว่า XBB.1.5 ประมาณ 1.2 เท่า และระบาดอย่างรวดเร็วมากกว่า 20 ประเทศแล้ว ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น
                 - ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ XBB.1.16 จากอินเดียไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แพร่ระบาดง่าย เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องพบผู้ป่วยอาการมากเป็นอัตราส่วนปกติ มีอาการบางอย่างแตกต่างไปบ้าง เช่น ตาแดงในเด็ก
                 - การดูแลรักษายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเฝ้าระวังอันตรายในกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
                 - สายพันธุ์ XBB ทุกตัว หลบหลีกภูมิต้านทานเดิมได้ดี จึงเป็นแล้วเป็นอีกได้ ภูมิที่เกิดจากวัคซีนที่ใช้ในการลดความรุนแรงของโรค ใช้เพิ่มขึ้น ภูมิต้านทานชนิดสำเร็จรูป LAAB จะไม่ได้ผลในกลุ่มสายพันธุ์ XBB
                 -วัคซีนที่ใช้ไม่มีวัคซีนเทพ ทุกตัวไม่แตกต่างกัน
                 - มาตรการในการป้องกันที่สำคัญก็คงเหมือนเดิม สิ่งที่จะต้องเน้น คือ สถานที่มีบุคคลอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เรือนจำ ในโรงเรียน ดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ล้างมือเป็นนิจ นักเรียนที่ป่วยไม่ควรไปโรงเรียน ผู้ป่วยทุกคนควรจะต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด และมีระเบียบวินัย
จาก 0.21% สู่ 7.2% ในสหรัฐฯ
                 หากตรวจสอบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 คิดเป็นสัดส่วนจากผู้ป่วยโควิดทั้งหมด พบว่า ผู้ป่วยโควิด XBB.1.16 อยู่ที่แค่ 0.21% ของผู้ป่วยโควิดในสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. แต่ผ่านไปเพียงแค่เดือนเดียว สัดส่วนผู้ป่วยโควิด XBB.1.16 เพิ่มสูงหลายสิบเท่า เป็น 3.69% ของผู้ป่วยโควิดทั้งหมด และตอนนี้ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ระบุว่า ช่วงวันที่ 9-15 เม.ย. สัดส่วนผู้ป่วยโควิด XBB.1.16 คิดเป็น 7.2% แล้วในสหรัฐฯ ถือว่าแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก เพราะสัปดาห์ก่อนหน้า สัดส่วนยังอยู่ที่ 3.9% และแค่ 2.1% ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น
                 อย่างไรก็ดี ในสหรัฐฯ นั้น โควิด XBB.1.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก อยู่ที่ 78% แต่ทางการสหรัฐฯ จับตาโควิด XBB.1.16 อย่างใกล้ชิด เพราะขยับขึ้นมาเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดลำดับ 2 ในเวลาอย่างรวดเร็ว
                 สิ่งที่คนอเมริกัน รวมถึงคนไทยเอง วิตกถึงโควิดสายพันธุ์นี้ คือ อาการ “เยื่อบุตาอักเสบ” ซึ่งเป็นอาการที่ไม่พบบ่อยนักในโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ โดย ดร.ตาเตียนา โปรเวลล์ ผศ. ด้านมะเร็งวิทยา คณะเวชศาสตร์ ม.จอห์น ฮอปกินส์ ทวิตข้อความว่า “ถ้าลูกหลานมีอาการตาแดง คัน ให้พึงระวังว่า อาจเป็นอาการของโควิด XBB.1.16 ถ้าเจอให้ไปตรวจอาการ เพราะนี่เป็นอาการที่ไม่พบบ่อยนักในโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ และอาจเข้าใจผิดได้ว่าเป็นอาการภูมิแพ้”

THAI NEWS PIX
รูปที่ 5 ผู้ป่วยโควิดในไทยช่วงสงกรานต์เพิ่มขึ้นสูง
               


                  ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โควิด XBB.1.16 หลบหลีกภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่ข้อมูลที่พบอาการทางคลินิกยังไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น แม้ติดเชื้อยังไม่มีใครล้มป่วยหนัก แม้แต่ที่ประเทศอินเดียที่มีการระบาดมาก แต่คนไข้อาการหนักไม่ได้เพิ่มมาก
                 ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ ถึงหนังสือของโรงพยาบาลรามาธิบดีเกี่ยวกับมาตรการรองรับกรณีโรคโควิด-19 ระบุว่า ให้เตรียมการรักษาหลังพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น และอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป หรือ LAAB


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/artides