นักวิทยาศาสตร์สร้างตัวอ่อนมนุษย์เทียมสำเร็จโดยไม่ใช้สเปิร์มหรือไข่

(GETTY IMAGES)หากปล่อยให้ตัวอ่อนเทียมเติบโตถึง 9 สัปดาห์ มันจะกลายสภาพเป็นทารกเช่นนี้หรือไม่ ?

นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จ สร้างสิ่งที่คล้ายคลึงกับตัวอ่อนมนุษย์ หรือเอ็มบริโอ โดยไม่ใช้สเปิร์ม ไข่ หรือมดลูกแต่อย่างใด
                    นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ ระบุว่า “ตัวแบบเอ็มบริโอ” นี้ สร้างขึ้นโดยใช้สเต็มเซลล์เป็นส่วนประกอบ จนออกมาเป็นสิ่งที่คล้ายคลึงอย่างมากกับเอ็มบริโอ หรือตัวอ่อนมนุษย์ อายุ 14 วัน อย่างที่เราเรียนกันในหนังสือ
                    สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ที่ยังไม่มีหน้าที่จำเพาะ มันต้องได้รับการกระตุ้นและสั่งการจากร่างกาย เพื่อกลายเป็นเซลล์จำเพาะต่าง ๆ ดังนั้น มันจึงสามารถเปลี่ยนเแปลงไปเป็นเซลล์ต่าง ๆ ได้ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์กระดูก หรือเซลล์ประสาท
                    สำหรับตัวอ่อนมนุษย์เทียมที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมานั้น มันสามารถปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้ผลตรวจการตั้งครรภ์กลายเป็นบวก (ตั้งครรภ์) ได้อีกด้วย
                   จุดประสงค์ของการสร้างตัวอ่อนมนุษย์เทียมขึ้นมานี้ เพื่อเป็นแนวทางอย่างมีจริยธรรม เพื่อทำความเข้าใจจุดแรกเริ่มสุดของการกำเนิดมนุษย์ นั่นคือ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกหลังสเปิร์มผสมพันธุ์กับไข่ เพราะช่วงเวลานั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายอย่าง จนก่อให้เกิดการก่อตัวของเซลล์ที่ท้ายสุด สามารถสแกนตรวจสอบและปรากฏเป็นรูปร่างคล้ายทารกได้

                           (WEIZMANN INSTITUTE OF SCIENCE)จุดสีฟ้าคือ เอ็มบริโอ สีเหลืองคือ ถุงไข่แดง และสีชมพูคือ เซลล์รก
                 


                    หากเราเข้าใจช่วงเวลาสำคัญนี้ จะมีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจถึงการแท้งบุตร และข้อบกพร่องของทารกแรกเกิด
                  “มันคือกล่องดำ... เพราะองค์ความรู้ของเราในเรื่องนี้ มันจำกัดมาก” ศาสตราจารย์ จาค็อบ ฮันนา จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ กล่าวกับบีบีซี
จริยธรรมการสร้างมนุษย์เทียม
                   การวิจัยเรื่องตัวอ่อนมนุษย์นั้น ในปัจจุบันถือว่าผิดกฎหมาย ขัดหลักจริยธรรม และเต็มไปด้วยข้อโต้แย้งมากมาย แต่ตอนนี้กำลังเกิดแนวทางให้สามารถวิจัยได้ ด้วยพัฒนาตัวอ่อนจำลอง โดยที่ไม่ได้ใช้สเปิร์ม ไข่ หรือมดลูก จากมนุษย์เลย
                   ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ โดยทีมวิจัยชาวอิสราเอล และถือเป็น “ตัวแบบเอ็มบริโอ” ที่สมบูรณ์ที่สุดแรกของโลก ที่จำลองโครงสร้างสำคัญต่าง ๆ ของตัวอ่อนมนุษย์ของจริงได้
                     “มันคือภาพตัวอ่อนมนุษย์วัย 14 วัน เหมือนที่เราเห็นกันในหนังสือเรียน” ศาสตราจารย์ฮันนากล่าว “เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
                      แทนที่จะใช้สเปิร์มหรือไข่ นักวิจัยได้ใช้วัตถุดิบตั้งต้น คือ สเต็มเซลล์ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการดัดแปลง จากนั้นทีมวิจัยได้ใช้สารเคมีต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์แปรสภาพกลายเป็นเซลล์ 4 ประเภท ที่จำเป็นต่อการกำเนิดตัวอ่อนมนุษย์ คือ
                    1.เซลล์เอพิบลาสท์ (epiblast cells) ที่เกิดขึ้นระหว่างการเกิดเอ็มบริโอ
                    2.เซลล์โทรโฟบลาสท์ (trophoblast cells) ที่ต่อมาจะกลายสภาพเป็นรก
                    3.เซลล์ไฮโปบลาสท์ (hypoblast cells) ที่จะกลายเป็นถุงไข่แดง
                    4.เซลล์เอกตราเอมไบรโอนิค เมสโซเดิร์ม (extraembryonic mesoderm)

                     จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้นำเซลล์ 4 แบบนี้ รวมจำนวน 120 เซลล์ มาผสมกันในอัตราที่แม่นยำ แล้วปล่อยให้พวกมันเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน แล้วสังเกตการณ์
                     ส่วนผสมของเซลล์เหล่านี้ ในอัตราส่วน 1% เริ่มการก่อตัวอย่างต่อเนื่องแทบในทันที กลายเป็นโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับตัวอ่อนของมนุษย์ แต่ยังไม่เหมือนกันแบบชัดเจน
                    “ต้องชื่นชมเซลล์พวกนี้จริง ๆ คุณแค่นำส่วนผสมที่ถูกต้อง และให้มันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช่ พวกมันก็ทำงานเองได้เลย” ศาสตราจารย์ฮันนาระบุ “เป็นปรากฏการณ์ที่เยี่ยมยอดมาก”
                     นักวิทยาศาสตร์ปล่อยให้ตัวแบบเอ็มบริโอเติบโตและพัฒนาจนเทียบเท่าตัวอ่อนอายุ 14 วัน เพราะกฎหมายหลายประเทศกำหนดว่า การวิจัยด้านตัวอ่อนมนุษย์ ไม่สามารถดำเนินไปไกลมากกว่านั้นแล้ว
                     บีบีซีได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ฮันนาที่ได้ชี้ให้เห็นตัวแบบ 3 มิติของตัวอ่อนที่พวกเขาสร้างขึ้น โดยสามารถเห็นเซลล์ที่จะกลายเป็นรกได้ชัดเจน รวมถึงส่วนโพรงต่าง ๆ ที่จะใช้นำสารอาหารจากเลือดของแม่ไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์
                     เรายังเห็นได้ถึงถุงไข่แดงที่ทำหน้าที่คล้ายตับและไต รวมถึงส่วนประกอบสำคัญอื่น ๆ ต่อการพัฒนาตัวอ่อน อีกด้วย
                     นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การสร้างตัวแบบเอ็มบริโอนี้ขึ้น จะช่วยอธิบายถึงกระบวนการที่เซลล์แต่ละชนิดได้ก่อกำเนิดขึ้น รวมถึงสังเกตการณ์ถึงขั้นตอนแรกเริ่มของการสร้างอวัยวะของมนุษย์ รวมถึงทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่โรคทางพันธุกรรมสืบทอดจากพ่อแม่ไปยังบุตรอีกด้วย
                      ผลการศึกษาในขั้นต้นพบว่า ส่วนต่าง ๆ ของตัวอ่อนจะยังไม่ก่อตัวขึ้น จนกว่าเซลล์รกจะขยายตัวเข้าล้อมรอบพวกมัน
                      นักวิทยาศาสตร์ยังเริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่า หากการศึกษานี้ทำให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ตัวอ่อนล้มเหลว (แท้งลูก) หรือการใช้ตัวยาจะช่วยทำให้ครรภ์ปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร อาจช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วได้ด้วย
                      ศาสตราจารย์โรบิน โลเวลล์ แบดจ์ ที่วิจัยการพัฒนาตัวอ่อนให้กับสถาบันฟรานซิส คริก บอกกับบีบีซีว่า ตัวแบบเอ็มบริโอนี้ “ดูดีทีเดียว” และ “ดูปกติมาก”
                      “ผมคิดว่ามันดีเลย สร้างขึ้นได้อย่างดี ดูสมเหตุสมผล และผมค่อนข้างประทับใจ” เขากล่าว
                       อย่างไรก็ดี ส่วนผสมเซลล์อีก 99% ที่ล้มเหลวนั้น ยังถือเป็นส่วนที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น มิเช่นนั้น การจะทำความเข้าใจถึงการแท้งบุตร หรือภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ จะเป็นไปได้ยาก หากตัวแบบเอ็มบริโอล้มเหลวเองเป็นส่วนใหญ่อย่างนี้
ผิดกฎหมายหรือไม่
                       ทีมนักวิจัยยอมรับว่า ความสำเร็จนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับได้ หากพัฒนาตัวอ่อนมนุษย์จำลองเกิน 14 วัน
                       หากเป็นในสหราชอาณาจักร การทำเช่นนั้นถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะตัวแบบเอ็มบริโอมีความแตกต่างจากตัวอ่อนมนุษย์ของจริง
                      “บางคนยินดี แต่คนอื่น ๆ คงไม่พอใจ” ศาสตราจารย์โลเวลล์-แบดจ์ กล่าว
                       และหากตัวแบบนี้คล้ายคลึงกับเอ็มบริโอมนุษย์จริง ๆ มากเท่าไร ก็ยิ่งก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมมากขึ้นเท่านั้น แม้ในข้อเท็จจริง นี่ไม่ใช่เอ็มบริโอมนุษย์ตามปกติ เป็นเพียงตัวแบบ แต่ก็เหมือนกันอย่างมาก
                      “คำถามคือ เราควรจะควบคุมดูแลตัวอ่อนเทียมเหล่านี้ เหมือนกับตัวอ่อนมนุษย์หรือไม่ คุณจะยอมรับได้ไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวอ่อนเทียม”
                       อย่างไรก็ดี นักวิจัยยืนกรานว่า การนำตัวอ่อนเทียมนี้พัฒนาจนกลายเป็นการตั้งครรภ์ หรือทารกเทียมขึ้นมาจริง ๆ ยังถือเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม ผิดกฎหมาย และเป็นไปไม่ได้เลย


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/articles/cyjwxx12gz3o