GETTY IMAGES : ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในปัจจุบันมีเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการแห่งวิวัฒนาการ
เคยไหมที่มีเพื่อนมาบอกคุณว่า เขาซื้อรถยนต์สีน้ำเงิน จากนั้นคุณก็เริ่มเห็นรถยนต์สีน้ำเงินในทุก ๆ ที่ คุณอาจจะคิดว่า รถยนต์สีน้ำเงินคงเป็นกระแส ทุกคนเลยต้องมีสักคัน คุณถึงขั้นอาจเอาเรื่องนี้ไปคุยกับเพื่อนฝูง แต่มีโอกาสที่รถยนต์สีน้ำเงินนั้น ไม่ได้มีจำนวนเปลี่ยนไปเลยในเมืองที่คุณอยู่ คุณแค่ไม่เคยตระหนักถึงเท่านั้น
ปรากฏการณ์เช่นนี้ คือ ภาพลวงตาของความถี่ (frequency illusion) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป และทุกคนต้องประสบกับปรากฏการณ์เช่นนี้สักครั้งในชีวิต เมื่อคุณเริ่มให้ความสนใจกับบางสิ่งบางอย่าง จนสิ่งนั้นกลายมาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ
คำอธิบายของปรากฏการณ์
หลักการทางจิตวิทยานี้เรียกว่า "ปรากฏการณ์บาเดอร์-ไมน์ฮอฟ” (Baader-Meinhof phenomenon) ที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ
ปรากฏการณ์นี้ได้รับการยอมรับกันในปี 1994 หลังผู้ร่วมการสัมมนาในเยอรมนีได้นำเสนอปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา เพื่ออธิบายว่าเพราะเหตุใดเมื่อเขาได้ยินชื่อกลุ่มก่อการร้าย "ฝ่ายกองทัพแดง" (Red Army Faction-RAF) ในทศวรรษที่ 1970 หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า "บาเดอร์-ไมน์ฮอฟ" ตามนามสกุลของแกนนำกลุ่ม นับแต่นั้น เขาก็สังเกตเห็นกลุ่มก่อการร้ายนี้ในทุก ๆ ที่
หลังจากนั้น ผู้ที่ได้อ่านเรื่องราวนี้จากงานสัมมนา ก็เริ่มแบ่งปันประสบการณ์ในลักษณะเดียวกันมากขึ้น กลายเป็นที่มาของการเรียกชื่อปรากฏการณ์นั้นว่า "บาเดอร์-ไมน์ฮอฟ"
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการทำงานสมองของมนุษย์เรามาโดยตลอด
GETTY IMAGES:ตัวอย่างที่มักถูกอ้างอิงบ่อย ๆ เพื่ออธิบายภาพลวงตาของความถี่ คือ คุณมักจะเริ่มเห็นรถยนต์บ่อยครั้งขึ้น เมื่อคุณอาจจะกำลังคิดซื้อรถยนต์
ดร.เนฮา ปาทัก ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายในบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ เว็บเอ็มดี (WebMD) ว่า "เมื่อคุณเริ่มให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คุณก็จะเห็นสิ่งนั้นบ่อยครั้งขึ้น"
"ช่วงแรก คุณจะเริ่มเชื่อว่า สิ่งนั้นคงปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้น จากนั้นคุณก็จะทำให้ตัวเองเชื่อว่า คำ แนวคิด หรือสิ่งอื่น ๆ คงไม่ได้ปรากฏออกมาบ่อยเหมือนเดิม นี่เรียกว่า การสร้างอคติเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง (confirmation bias) ในความจริงแล้ว ความถี่ในการพบเห็นไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่สมองของคุณเองที่เป็นตัวสั่งการ" เธออธิบาย
เกิดอะไรขึ้นกับสมองของคุณ
อาร์โนลด์ ซวิกกี ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้คิดค้นคำว่า "ภาพลวงตาของความถี่" ในปี 2005 อธิบายว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลพวงจากสองขั้นตอนการทางจิตวิทยาที่ผู้คนรู้จักกันดี
ขั้นตอนแรก คือ สมาธิในการคัดเลือกสิ่งเร้า ซึ่งเข้ามามีส่วนทำให้สามารถตัดสิ่งเร้าที่ไม่สำคัญอื่นออกไป เพื่อให้ความสนใจต่อสิ่งเร้าที่สำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้
อีกขั้นตอน คือ การสร้างอคติเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง ที่ทำให้เราพยายามมองสิ่งต่าง ๆ ที่สนับสนุนความคิดของเรา ณ ชั่วเวลาหนึ่ง เช่น การเห็นรถยนต์สีน้ำเงินมากขึ้น แล้วก็เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นเพียงการยืนยันความเชื่อของเราว่า มีรถยนต์สีน้ำเงินเพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไป คำว่า "การสร้างอคติเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง" ก็คือ "อคติทางความคิด" เพราะมนุษย์เรามักถูกกำหนดเงื่อนไขให้ต้องหาคำอธิบายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก และปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เราค้นพบ
GETTY IMAGES :อคติทางความคิด คือ การรับรู้ที่บิดเบือน คลาดเคลื่อนจากความจริง จนประเมินสิ่งต่าง ๆ ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม โจฮันนา เรียรา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาคลินิค บอกบีบีซีว่า ภาพลวงตาของความถี่ ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานของสมองของแต่ละบุคคลด้วย ดังนั้น ปรากฏการณ์นี้อาจจะไม่เกิดขึ้นทุกคน หรือไม่บางครั้งเราเองก็อาจจะจดจำไม่ได้ว่าเคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนั้น หรือไม่ก็ไม่ได้สังเกต
"ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องปกติในประชากรส่วนใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยทางวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด อีกปัจจัยก็คือ เราตระหนักถึงมันแล้ว" เธอกล่าว
คำอธิบายเพิ่มเติมต่อประเด็นนี้ คือ ขีดความสามารถในการรับรู้ที่สมองของแต่ละคนจะไม่สามารถให้ความสนใจกับสิ่งเร้าทุกอย่างได้เท่ากัน เนื่องจากเราพุ่งความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ได้จำกัด มิเช่นนั้นเราจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้
"เมื่อเราเจาะจงที่จะให้ความสนใจกับสิ่งเร้าสิ่งใดเป็นการเฉพาะ เพียงเพราะว่าเราเพิ่งได้สัมผัสหรือพบว่าสิ่งนั้นน่าสนใจ หรือไม่เราก็ติดใจกับสีสันฉูดฉาด หรือบางสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกของเรา หรือไม่ก็การสัมผัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การรับรู้ของเราเปิดรับกับสิ่งเร้าเหล่านี้มากขึ้น" เธออธิบาย
GETTY IMAGES :อีกหนึ่งตัวอย่างที่ถูกอ้างอิงบ่อย คือ เมื่อคุณฟังเพลงใหม่ที่คุณโปรดปรานเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง คุณอาจจะเริ่มสังเกตว่า ได้ยินเพลงนี้ในทุก ๆ ที่ จนทำให้คุณคิดเองว่า เพลงนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น
นั่นก็เป็นเพราะสมองของเรารับรู้ว่าสิ่งนั้นสำคัญ จึงทำให้เมื่อเราพบเห็นสิ่งเร้าแบบลักษณะคล้ายคลึงกัน สมองของเราก็จะพุ่งความสนใจไปหาสิ่งนั้น ไมว่าจะเป็นรถยนต์สีแดง สีน้ำเงิน จากแบรนด์รถยนต์ต่าง ๆ เป็นต้น
ภาพลวงตาของความถี่ยังมีส่วนเชื่อมโยงกับส่วนต่าง ๆ ของสมองด้วย เช่น กระบวนการรับรู้ต่อพื้นที่ จะเกี่ยวข้องกับสมองกลีบข้าง ขณะที่กระบวนการรับรู้ต่อวัตถุต่าง ๆ จะเกี่ยวข้องกับระบบลิมบิก ที่มีส่วนฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนประกอบที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บความจำ หรือสมองส่วนอมิกดาลาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความกลัว" เรียรา ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา กล่าว
ด้วยเหตุนี้ องค์ประกอบทางอารมณ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจึงมีส่วนทำให้เกิดภาพลวงตาของความถี่ขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น หากว่า เรียรา เจอกับผู้หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่ง แล้วยังคงพบเจอกับหญิงตั้งครรภ์อีกหลายคนต่อเนื่อง นั่นอาจเพราะ นี่เป็นช่วงเวลาที่สิ่งนี้มีความสำคัญในชีวิตของเธอ
"สิ่งนั้นไม่เพียงมีส่วนเชื่อมโยงต่ออารมณ์ความรู้สึก แต่ยังรวมถึงการรับรู้อีกด้วย ในช่วงเวลาสำคัญนั้น ฉันอาจจะอยู่ในภาวะสูญเสียลูก หรือไม่ก็ต้องการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ก็ได้" เธออธิบาย
GETTY IMAGES :ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจที่เรียกว่า "จิตวิทยาการตลาด"
เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว จะช่วยทำให้เข้าใจว่าสมองส่วนต่าง ๆ มีส่วนสำคัญต่อการเกิดภาพลวงตาของความถี่ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของสิ่งเร้าที่จะทำให้การตอบสนองของแต่ละคนแตกต่างกัน
"นี่ถือเป็นพื้นฐานของจิตวิทยา สิ่งที่เราพบเห็นจะไม่ใช่สิ่งที่กำหนดการตอบสนองทางเหตุผล แต่ในกรณีนี้คือ ความถี่ (ของการได้เห็น) หรือที่เรียกว่า อคติทางความคิด"
ไร้ผลกระทบด้านลบต่อสมอง
"หากฉันเห็นรถยนต์สีน้ำเงินจำนวนมาก ฉันก็จะต้องตั้งสมมติฐานและคิดว่า ใช่ มีรถยนต์สีน้ำเงินอยู่ทุกที่ นี่เป็นพื้นฐานการสร้างอคติจากปรากฏการณ์ภาพลวงตาของความถี่" เรียราอธิบาย
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เธออธิบาย คือ หากเมื่อไม่นานมานี้เธอรับประทานผลไม้แล้วทำให้เธอรู้สึกไม่สบาย จากเหตุการณ์นี้จะทำให้มีแนวโน้มที่เธอจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองถึงสามวันสังเกตการณ์ว่ามีอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ บ่อยแค่ไหน หรือพูดคุยกันกับคนที่มีประสบการณ์แบบเดียวกัน สิ่งที่สมองกำลังทำงาน คือ พยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อันตราย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
"อคติ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป บางครั้งมันก็ช่วยให้เราปรับตัวเพื่อหาทางรอดในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ" เธอกล่าวเสริม
ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบใด ๆ หากไม่มีส่วนเกี่ยวโยงกับองค์ประกอบที่นำไปสู่ความชอกช้ำทางจิตใจ เช่น กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุทางการจราจร
ขอขอบคุณ : อัลมุเดนา เดอ กาโบ , บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bbc.com/