องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือน ยารักษาเบาหวานปลอมระบาดหนัก เซ่นปมยาขาดแคลน-ดีมานด์สูง
องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนเมื่อวันจันทร์ (29 ม.ค.) ว่า ยากลุ่ม GLP-1 agonists ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก ที่ประสบปัญหาขาดแคลนทั่วโลกในปีที่แล้ว ส่งผลให้มีการขายยาที่ต้องสงสัยว่าเป็นยาปลอมเพิ่มมากขึ้น
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ยารักษาโรคเบาหวานปลอมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง มักมีการขายและจัดจำหน่ายบนแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับการควบคุม รวมถึงโซเชียลมีเดีย
"เป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ปลอมนั้นขาดประสิทธิภาพในการรักษา และอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษได้" องค์การอนามัยโลกกล่าว พร้อมเสริมว่า ยาปลอมเหล่านี้อาจผลิตขึ้นโดยบุคคลที่ขาดความรู้เรื่องยา อีกทั้งอาจผลิตในสภาวะที่ไม่ถูกสุขอนามัย และอาจปนเปื้อนแบคทีเรีย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความต้องการอันล้นหลามที่มีต่อยารักษาโรคเบาหวานที่มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก เช่น ยาโอเซมปิก (Ozempic) และยาเวโกวี (Wegovy) ของบริษัทโนโว นอร์ดิสค์ (Novo Nordisk) และยาอื่น ๆ คล้ายคลึงกันที่ได้รับการอนุมัติสำหรับลดน้ำหนัก เช่น ยาเซปบาวด์ (Zepbound) และยามอนจาโร (Mounjaro) ของบริษัทอีไลลิลลี่ (Eli Lilly) กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดยาปลอมทั่วโลกเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ในปี 2566 ผู้ป่วย 3 รายในสหรัฐต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เนื่องจากประสบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงในระดับอันตราย หลังจากใช้ยาโอเซมปิกที่ต้องสงสัยว่าเป็นยาปลอม
นอกจากนี้แล้ว หน่วยงานด้านสาธารณสุขของออสเตรียและเลบานอนยังรายงานว่าในปีเดียวกัน มีผู้ป่วยหลายรายที่ประสบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จากการใช้ยาโอเซมปิกปลอม และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่า การขาดแคลนยาที่กินระยะเวลายาวนาน บวกกับการจำหน่ายยาปลอมที่เพิ่มมากขึ้น มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตและมีการควบคุมอย่างถูกต้อง พร้อมกับกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการสั่งจ่ายยาและการจำหน่ายยาอย่างเหมาะสม
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.tnnthailand.com/