ในอาณาจักรแห่งโลกของจุลินทรีย์ ยีสต์ (yeasts) ถือเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่กุมความลับของจักรวาล โดยเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ทั้งพืชและสัตว์ แม้กระทั่งมวลมนุษยชาติก็พบว่ามีวิวัฒนาการมาจากจุลชีพดึกดำบรรพ์ชนิดนี้เช่นเดียวกัน
ด้วยโครงสร้างที่น่ามหัศจรรย์ของยีสต์ที่สามารถนำมาใช้เป็นโมเดลในการศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ทำให้เกิดเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดได้อีกมากมาย ซึ่งรวมถึงผลงานชิ้นเอกของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน"
รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี หัวหน้าหน่วยความร่วมมือวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (Mahidol University and Osaka University Collaborative Research Center หรือ MU-OU : CRC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนและทีมวิจัยได้ค้นพบวิธีการใช้ยีสต์เป็นโมเดลในการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดมะรุมต่อการลดความเป็นพิษของโลหะหนักเพื่อประยุกต์ใช้ในการบำบัดสารปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรก
สาเหตุที่เลือกใช้ยีสต์ในการศึกษาฤทธิ์ของใบมะรุมในการดักจับโลหะหนักนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี กล่าวว่า เนื่องจากได้มีการศึกษากันมาอย่างยาวนาน จนสามารถทราบถึงกลไกการตอบสนองภายในเซลล์ ซึ่งการศึกษาในยีสต์ทำได้ง่ายกว่าในสัตว์ชั้นสูงโดยทั่วไป
โดยในการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากใบมะรุม ทีมวิจัยได้ค้นพบเป็นครั้งแรกว่า พืชสมุนไพรหลากประโยชน์ของไทยดังกล่าว นอกจากจะมีคุณสมบัติมากมายทางยาแล้ว ยังมีประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม ด้วยคุณสมบัติที่สามารถดักจับโลหะหนักได้ และยังช่วยกระตุ้นเซลล์ให้ทนทานต่อโลหะหนักได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อใช้ยีสต์ในการศึกษาก็ยิ่งทำให้เข้าใจกลไกการทำงานที่ชัดเจนของสารสกัดจากใบมะรุมในการสกัดกั้นสารโลหะหนักไม่ให้เข้าสู่เซลล์ ซึ่งสามารถนำไปวิจัยต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรในหลากหลายด้านมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี และทีมวิจัย ยังได้ค้นพบอีกด้วยว่า ยีสต์นั้นนอกจากจะสามารถใช้ในกระบวนการหมักเพื่อการผลิตเอทานอล (Ethanol) ยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานทางเลือกอื่นได้ด้วย
และจากการศึกษากลไกการจัดการความเครียดของยีสต์ ทำให้ทีมวิจัยได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตเอทานอลและพลังงานทางเลือกอื่น ซึ่งจะสามารถขยายผลสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ต่อไปอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี ได้กล่าวฝากถึงเยาวชนและนักวิจัยรุ่นหลัง โดยเผยเคล็ดลับสำคัญในการพิชิตโจทย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายให้ได้ว่า จะต้อง "รู้ลึก" และ "รู้จริง" ซึ่งการศึกษาที่ลึกลงไปในระดับเซลล์อย่างจริงจังนี้ จะช่วยตอบโจทย์ได้ชัดเจน และสามารถต่อยอดขยายผลออกไปได้อีกมากมาย
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210