ม.มหิดล เร่งสร้างขุมพลังยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ

www.medi.co.th


เมื่อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและงานวิชาการที่ตอบโจทย์เพื่อให้สามารถเข้าใจกับปัญหาและพร้อมรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกิดความเข้มแข็งอันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ


ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เมื่อกล่าวถึงเรื่อง "ความมั่นคงของประเทศ" ในปัจจุบันความมั่นคงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการรักษาอธิปไตยแต่ยังหมายถึงการเชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัยห่างไกลโรครวมถึงการตอบสนองต่อโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที
นับเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่ "ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล" เป็นดังขุมพลังสำคัญของการเตรียมพร้อมเพื่อสนองรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ
ปัจจัยสำคัญที่จะมาเกื้อหนุนการสร้างขุมพลังด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติคือการพัฒนาด้าน "Regulatory science" หรือวิทยาการด้านการกำกับดูแลควบคุม เพื่อสนับสนุนให้การบริหารจัดการด้านวัคซีนของประเทศชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นแนวโน้มการผลิตบัณฑิตเพื่อสนองต่อความต้องการของประเทศในด้านดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มุ่งเน้นวิชาการด้าน Systems biosciences ซึ่งครอบคลุมการดูแล และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทางชีววิทยาศาสตร์ทั้งระบบ เพื่อมุ่งผลิตกำลังทรัพยากรบุคคลสู่การปฏิรูปประเทศไทยด้านดังกล่าวทั้งองคาพยพ
อาจารย์ ดร.พร้อมสิน มาศรีนวล กล่าวให้ความเชื่อมั่นในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงภารกิจของศูนย์ฯ ในการวิจัยด้านวัคซีน โดยขณะนี้ทางสถาบันฯ กำลังปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิจัย อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน และห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (Biosafety Laboratory Level 3 - BSL 3) เพื่อรองรับงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคติดต่อร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ภายในปลายปี พ.ศ. 2566 นี้
ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสนองยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการผลิตวัคซีนชนิด cell-based technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักของหน่วยงาน เช่น วัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์(Live Attenuated Vaccine) ที่สามารถพัฒนาเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและป้องกันการเกิดโรคได้ ซึ่งจะต้องทำในสภาวะแวดล้อม (Ecosystem) ที่มีความปลอดภัยในระดับสูง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไป  ตราบใดที่เชื้อโรคมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาวัคซีนก็ไม่อาจหยุดนิ่ง และต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ  มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมเดินหน้าสร้างขุมพลังด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ด้วยพันธกิจเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่งจะทำให้เชื่อมั่นได้ถึงความเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับคนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th


 


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล