ครั้งแรกในไทย ม.มหิดล เปิดหลักสูตร 2 ปริญญา ผลิตป.เอก

www.medi.co.th

ปัจจุบันโลกของนวัตกรไม่ได้จำกัดอยู่ที่วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง วิชาชีพ "พยาบาล" ก็สามารถต่อยอดทางการศึกษา เพื่อสร้างสรรค์บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ผ่านการเสริมทักษะสู่การเป็น "พยาบาลนวัตกร" ได้เช่นกัน
          ครั้งแรกในประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ เปิดหลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญา มุ่งผลิต "พยาบาลนวัตกร" สู่ความเป็นเลิศทางการบริหารการศึกษา ร่วมพัฒนาชาติสู่การเป็นประเทศนวัตกรรม
          รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้เป็นเบื้องหลังสำคัญในการผลักดันให้บุคลากรในสายวิชาชีพพยาบาล ได้ยกระดับสู่การเป็น "พยาบาลนวัตกร" เพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยทักษะการใช้เทคโนโลยี ผ่านหลักสูตรเปิดใหม่ ปริญญาเอกสองปริญญา พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต - ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา)
          นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับการกระจายตัวของพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมาพบว่า กว่าร้อยละ 80 ของ "พยาบาลด็อกเตอร์" เป็นบุคลากรพยาบาลคุณภาพระดับบริหารในสถาบันการศึกษา และสถาบันวิชาชีพพยาบาลของไทย จึงถือได้ว่า หลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญาที่เกิดขึ้นนี้ จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรพยาบาลคุณภาพ

          รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้ร่วมผลักดันให้หลักสูตรเปิดใหม่ ปริญญาเอกสองปริญญา พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต - ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยว่า เป็นการเปิดมิติใหม่ทางการศึกษาพยาบาลศาสตร์ เพื่อร่วมพัฒนาชาติสู่การเป็นประเทศนวัตกรรม ด้วยการเพิ่มพูนทักษะบริหารการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้ และการใช้เทคโนโลยี
          ซึ่งวิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัย "ใจ" หรือ "จิตบริการ" หากได้เรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการผลิตสื่อ และสร้างสรรค์สื่อทางการศึกษา ก็จะเป็นการทำให้ประชาชนคนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพมากยิ่งขึ้น โลกในทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จึงทำให้การใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถเรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึง "วิธีการ" ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพียงการใช้ตาดู หูฟังอาจยังไม่เพียงพอ จะต้องทำให้จับต้องได้ สัมผัสได้ด้วย
          รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานหลักสูตรปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตว่า การให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึง "หัวใจของนวัตกรรมการบริการ" ด้วยหลัก "การคิดเชิงระบบ" (Systematic thinking) คือเป้าหมายสำคัญของหลักสูตรที่จะนำไปสู่การผลิตดุษฎีบัณฑิตคุณภาพ ที่จะสามารถวิเคราะห์ระบบ และประเมินนโยบายสุขภาพ พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมได้โดยสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย
          ยกตัวอย่างการให้บริการด้านสูติศาสตร์ กรณีมารดาตกเลือดหลังคลอด การศึกษาสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตกเลือดหลังคลอด ที่พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตกเลือดนอกจากปัจจัยในตัวมารดาแล้ว ยังมีปัจจัยของระบบบริการมาเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ การขาดพยาบาลผดุงครรภ์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการผดุงครรภ์ จากผลการศึกษานี้สามารถนำไปเสนอแนะนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลในการพัฒนาระบบบริการมารดาทารก
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงแนวคิดและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาดุษฎีบัณฑิตที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ผ่านแนวคิด
          นั่นคือ "Content Knowledge" ที่หลักสูตรเน้นให้ผู้เรียนรู้เนื้อหาความรู้เชิงลึกมีความสามารถ "Communication" (การสื่อสาร) ที่มีประสิทธิภาพตรงใจกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้รูปแบบ "Coaching" ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใกล้ความสำเร็จส่วนตัว ควบคู่ไปกับ "Class Management" การจัดการชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ "Creativity" ที่มีความสามารถในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหาสาระวิชา กับรูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตอบโจทย์ที่แท้จริงของผู้เรียน
          แนวคิดดังกล่าวช่วยในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการหลักสูตรเพื่อพิชิตเป้าหมายสู่การเป็นหลักสูตรคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลักสูตรฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 หลักสูตรเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดลให้เข้ารับการประเมินคุณภาพทางการศึกษาระดับอาเซียน "AUN-QA" (ASEAN University Network Quality Assurance) ในเร็วๆ นี้
          สำหรับดุษฎีบัณฑิตที่สำเร็จจากหลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญานี้ จะเป็นการผลิตพยาบาลนวัตกรคุณภาพที่สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการบริการสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของบุคคลทั่วไปและผู้ป่วย ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับทั้งปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา) จาก สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
           ขณะนี้มีนักศึกษากำลังศึกษาหลักสูตรสองปริญญาในปีการศึกษา 2565 และกำลังเปิดรับสมัครสำหรับปีการศึกษา 2566 ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดและสมัครเรียนได้ผ่านเว็บไซต์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล www.grad.mahidol.ac.th ตั้งแต่บัดนี้ - 15 พฤษภาคม 2566


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210