กัญชามีบทบาทมากขึ้นในการให้บริการทางการแพทย์ จากการที่ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนเห็นความสำคัญของกัญชาในการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ
ปัจจุบันกัญชามีบทบาทมากขึ้นในการให้บริการทางการแพทย์ จากการที่ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนเห็นความสำคัญของกัญชาในการรักษาและส่งเสริมสุขภาพ ร่วมผลักดัน “กัญชาทางการแพทย์” เข้าสู่ระบบสาธารณสุข และการประชุมทางวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 17 เรื่อง “การวิจัย&ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์” วันที่ 2 ก.ย. 2563 นำเสนอผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย และยังช่วยฟื้นฟูสุขภาพในผู้สูงวัยจากโครงการนำร่องของหมอเดชา
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 กำหนดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ 5 ช่องทาง คือ (1) โดยการขึ้นทะเบียนยา กฎหมายไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนยาจากต่างประเทศ 5 ปี เพื่อให้มีการพัฒนาในประเทศไปก่อน ขณะนี้ผ่านมา 1 ปีครึ่ง แต่ถ้ามีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย หน่วยงานรัฐสามารถขอนำเข้าได้ (2) ให้ใช้ทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีประกาศรายชื่อตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาส่วนผสมปรุง 16 ตำรับ ใช้โดยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ (3) เป็นช่องทางพิเศษ คือ SAS (Special Access Scheme) เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่จะใช้ยากัญชา หากมีปัญหาจะไม่ฟ้อง เนื่องจากแพทย์ไม่ได้ทำตามมาตรฐานวิชาชีพ (4) ให้ใช้ภายใต้การวิจัย โดยผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนก่อน (5) ยาปรุงเฉพาะรายสำหรับผู้ป่วย แต่เดิมหมายถึงหมอพื้นบ้าน กรณีน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) ใช้ช่องทางนี้ เนื่องจากอาจารย์เดชา (นายเดชา ศิริภัทร) เป็นหมอพื้นบ้าน และขอปรุงตำรับเฉพาะราย และได้มอบตำรับนี้เป็นทรัพย์สมบัติของทางราชการและให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (กรมฯ) นำไปใช้ประโยชน์
การขับเคลื่อนกัญชาในปีที่ผ่านมา ตามนโยบายเกี่ยวกับกัญชาต้องการให้เกษตรกรได้ประโยชน์ด้วย กฎหมายจึงให้มีการปลูกกัญชาโดยเกษตรกรในลักษณะวิสาหกิจชุมชน โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ส่งกัญชาที่ปลูกเสร็จผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ไปถึงขั้นตอนสุดท้ายที่โรงพยาบาลหรือคลินิกการแพทย์แผนไทยเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งปีที่ผ่านมามียา 16 ตำรับ เวลานี้เพิ่มอีก 13 ตำรับ ส่วนยาปรุงเฉพาะราย แต่ก่อนให้เฉพาะหมอพื้นบ้านที่ผ่านการประเมินรับรองซึ่งมี 2 ตำรับ คือ ของหมอพื้นบ้าน จ.กาฬสินธุ์ (เสียชีวิตแล้ว) และตำรับของอาจารย์เดชา ต่อมาได้แก้กฎหมายให้แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถขอตำรับตามเข้าช่องทางที่ 5 ได้ด้วย ตอนนี้จึงมีรายการเพิ่มขึ้นมาอีกหลายตำรับ แต่ยังประกาศไม่ได้ เพราะยังติดขัดในหลายประเด็น
ต่อมาเป็นเรื่องของแหล่งวัตถุดิบ กฎหมายให้ผู้ปลูกต้องเป็นสถาบันการศึกษาและวิสาหกิจชุมชน (เกษตรกร) กรมฯ ได้ศึกษาไว้หลายรูปแบบ มีการจับคู่ระหว่างส่วนราชการกับสถาบันการศึกษาหรือกับวิสาหกิจชุมชนไว้ 6 คู่ แต่ละแห่งมีปริมาณการปลูก 2,000 กก.สด/ปี จะได้ประมาณ 12,000 กก. ตอนนี้เก็บเกี่ยวได้ปริมาณ 5,000 กว่ากก. นำมาผลิตโดยผู้ผลิตหลัก 2 ที่ คือ ร.พ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผลิตแบบแผนไทย ประยุกต์เทคโนโลยี และกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร คาดว่าปลายปีนี้จะเก็บได้ 7,000 กก. นอกจากนั้น ยังมีการปลูกที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูก เนื่องจากใน 16 ตำรับ มีตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพอยู่และต้องการให้ใช้ใน รพ.สต. แต่การบริหารจัดการยุ่งยากเพราะปลูกเพียงแห่งละ 50 กก.
ในปีที่ผ่านมาได้กระจายยา 16 ตำรับ รพศ. ร.พ.ทั่วไป (รพท) รพช. ร.พ.สังกัดกรมฯ กรมสุขภาพจิต และ ร.พ.อื่น ๆ รวม 354 แห่ง และในปีต่อไปจะให้ใช้ยาใน รพ.สต. โดยให้ปลูก ผลิต และจ่ายยาใน รพ.สต. เบ็ดเสร็จในพื้นที่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรและแพทย์แผนไทย ส่วนน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) ใช้ช่องทางการวิจัย 22 ร.พ. ต่อมา รพศ. ขอเข้าร่วมวิจัยด้วย 8 แห่ง แต่ผลการวิจัยยังไม่รวม รพศ. และได้นำเสนอผลการวิจัยต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า น้ำมันกัญชามีความปลอดภัยและใช้ได้ผล ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แม้จะไม่ได้บ่งบอกว่ารักษาโรคมะเร็งได้หรือไม่ จึงให้ใช้ในช่องทางที่ 3 ได้ทุก ร.พ. โดยไม่ต้องไปขอทำวิจัยอีก ขณะนี้มีอยู่ 77 แห่ง และมีผู้มารับบริการ 66,019 ครั้ง ผ่านการคัดกรอง 63,120 ครั้ง โดยเป็นการใช้น้ำมันกัญชา 51,472 ครั้ง และ 80% เป็นการใช้โดย ร.พ.สังกัดกรมฯ และอีก 20% โดย ร.พ. อื่น
เมื่อกัญชาทางการแพทย์แผนไทยใช้ได้ผลโดยมีพื้นฐานจากการแพทย์พื้นบ้าน กรมฯ ได้พยายามทำตำรับใหม่ขึ้นมาสำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยใช้ช่องทางของกัญชาการแพทย์ทางเลือก จึงมีตำรับเมตตาโอสถและตำรับการุณย์โอสถ ซึ่งเปิดบริการที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพการแพทย์แผนไทย อาคารเรือนไทย สธ. มีแพทย์แผนไทยเป็นหลักดูแลผู้ป่วยประมาณ 50,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งมีข้อห้ามในการเข้าถึงน้ำมันกัญชาหรือใช้แล้วไม่ได้ผล จึงเปิดให้มีตำรับนี้และให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรักษาต่อ หากได้ผลดี จะให้ ร.พ. อื่นนำไปใช้ต่อ
สำหรับการวิจัยกัญชาทางการแพทย์แผนไทย นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า การวิจัยการใช้กัญชามีทั้ง pre-clinic และ clinic research โครงการวิจัยหลักเป็นงานวิจัยที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกรมฯ ศึกษาการใช้น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) มีจำนวนตัวอย่างประมาณ 18,000 คน สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและนำผลการวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ) และทางกรมฯ จะนำเสนอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เข้ากับสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ต่อไป เพื่อความยั่งยืนในอนาคต
นพ.ปราโมทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้เตรียมการขยายผลการใช้ไปยังผู้ป่วยกลุ่มประคับประคอง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งมีปัญหาอาการปวด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ใน รพ.สต. และประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าถึงมอร์ฟีนยาก ยิ่งคนในระดับตำบลเข้าถึงมอร์ฟีนแทบไม่ได้ เนื่องจากแพทย์ที่สั่งมอร์ฟีนได้จะอยู่ใน ร.พ. ระดับ รพช.ขึ้นไป จึงวางแผนว่าจะให้มีการใช้น้ำมันกัญชาในผู้ป่วยประคับประคองแทนมอร์ฟีน อย่างน้อยยังไม่เคยมีผู้ป่วยหยุดหายใจจากกัญชา
ภญ.อาภากร บุญธรรม เภสัชกรประจำ ร.พ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวถึงผลการวิจัยกัญชาทางการแพทย์แผนไทยว่า โครงการสำคัญเป็นโครงการติดตามลักษณะการใช้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์แผนไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผล คือ ESAS EQ-5D-5L เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สถานที่วิจัย ได้แก่ ร.พ. ในโครงการ 22 แห่ง และเพิ่มเติมภายหลัง 8 แห่ง จากการวิเคราะห์ผลเบื้องต้น 9 เดือนแรก โดยภาพรวมมีผู้ป่วยได้รับน้ำมันกัญชา 18,604 ราย โรคที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ โรคนอนไม่หลับ รองลงมาเป็นอาการปวด โรคมะเร็งเกี่ยวกับอวัยวะต่าง ๆ โรคไมเกรน เบื่ออาหาร ภูมิแพ้ พาร์กินสัน และอาการทางสมอง เช่น อาการชัก โดยรูปแบบการใช้ที่นิยมมากที่สุดเป็นการใช้ 1 ครั้ง ก่อนนอน มี 1-2% เป็นการใช้ระหว่างวัน ก่อนหรือหลังอาหาร ผลจากการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับน้ำมันกัญชาต่อเนื่อง 90 วัน ทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคมะเร็งร่วมกับกลุ่มที่ไม่มีโรคมะเร็ง พบว่าคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจาก baseline เพิ่มขึ้นทั้งในระดับที่ 30 วัน 60 วัน และ 90 วัน ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงนำไปสู่การพัฒนาแนวเวชปฏิบัติการสั่งใช้น้ำมันกัญชาในรูปแบบการสั่งจ่ายพิเศษแบบ SAS และมีการกำหนดข้อบ่งใช้ทั้งหมด 5 ข้อ คือ โรคนอนไม่หลับ ภาวะเบื่ออาหาร ลมปะกังหรือไมเกรน อาการปวดเรื้อรัง สันนิบาตลูกนก (พาร์กินสัน)
สำหรับผลการดำเนินงานคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยของ ร.พ. การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย 3 แห่ง คือ ร.พ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยฯ และ ร.พ.การแพทย์แผนไทยที่สาขาอุดรธานี มีผู้เข้ารับน้ำมันกัญชาที่ กรมฯ มากที่สุด 34,000 กว่าครั้ง ส่วน ร.พ. ที่ยศเส เนื่องจากเป็นคลินิกเฉพาะทางเปิดเฉพาะวันจันทร์กับวันพุธครึ่งวัน มีผู้มารับน้ำมันกัญชาประมาณ 3,000 ครั้ง และที่อุดรธานีในเดือน มี.ค. จึงมีผู้มารับบริการน้อยกว่า ทั้ง 3 แห่ง มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยน้ำมันกัญชา 20,993 คน รวมผู้ป่วยทั้งหมดไม่ว่าจะรับยากี่ครั้งก็ตาม
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 63% เป็นผู้ชาย และ 37% เป็นผู้หญิง เมื่อแบ่งตามกลุ่มอายุ มากกว่า 30% อายุมากกว่า 60 ปี รองลงมาช่วงอายุ 50-60 ปี ประมาณ 20% ที่เหลืออยู่ในช่วงอายุ 20-50 ปี ผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่านี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคทางสมอง เช่น โรคลมชัก โรคหลักที่ใช้ค่อนข้างสอดคล้องกับโครงการวิจัยภาพรวม คือ อาการนอนไม่หลับเป็นอาการหลัก มีผู้ป่วยกว่า 63% ซึ่งอาการนี้อาจแฝงอยู่ในโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง รองลงมาเป็นอาการปวดประมาณ 13% ปวดศีรษะไมเกรน 7% พาร์กินสัน 3% และอื่น ๆ 14% ได้ผลค่อนข้างดี อาการอื่นๆ จะเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยกลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต กลุ่มอาการชาซึ่งเป็นภาวะที่อาจมีร่วมกับภาวะอื่นๆ อาการเบื่ออาหารซึ่งมักจะเป็นโรคร่วมของโรคมะเร็งหรือโรคอื่น ๆ
สำหรับประสบการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ พ.ท.สันทัด ชมภูพงษ์ แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี กล่าวถึงประสบการณ์การใช้ตำรับน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา)ที่ ร.พ.ศูนย์ราชบุรี เขตสุขภาพที่ 5 ว่า ทาง ร.พ. ดำเนินการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบผสมผสาน และทำงานอย่างต่อเนื่องประมาณปีกว่า ภายใต้การทำงานร่วมกันของทีมบุคลากรทางการแพทย์ทุกแขนงทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย เภสัชกร และพยาบาล ให้การดูแลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และแพทย์แผนไทยมีบทบาทดูแลผู้ป่วยประคับประคอง (palliative care) ด้วย โดยสร้างระบบและกระบวนการในการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน ในกรณีที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์ จะต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยก่อน แพทย์เจ้าของไข้ผู้ป่วยประคับประคองจะเขียนใบ consult มาที่แพทย์แผนไทย บอกเล่าอาการทั้งหมด แพทย์แผนไทยจะเขียนรับ consult ว่าจะดูแลอะไรบ้าง เช่น การสั่งน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วย แพทย์แผนไทยจะดูแลและติดตามผู้ป่วยเอง และในใบ OPD card จะคัดแยกผู้ป่วย โดยมีคลินิกให้คำปรึกษาคัดแยกผู้ป่วยว่าจะไปพบแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทย ที่ ร.พ. มีการปรึกษากันว่า ก่อนจะให้มอร์ฟีนควรจะต้องใช้ยาอะไรก่อน และสรุปว่าจะใช้กัญชาทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย สำหรับน้ำมันกัญชาสูตรของ อ.เดชา จะมีส่วนหนึ่งที่แตกต่าง คือ ช่วยให้หลับแบบสบาย ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยหลับได้ดีและไม่ต้องใช้มอร์ฟีนอีก และได้เสนอให้ผู้ป่วยและญาติเพื่อการใช้ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์
ร.พ.ศูนย์ราชบุรี มีข้อกำหนดว่า ในการดูแลผู้ป่วย จะต้อง mornitor ผู้ป่วยให้ชัดเจนและสามารถแจ้งทีมแพทย์และวิชาชีพอื่น ๆ ให้เข้าใจตรงกัน มีการเจาะเลือดผู้ป่วยทุกครั้งก่อนให้ยา และจากการตรวจในหลายกรณี พบว่าค่า eGFR หรือค่าการกรองของไตดีขึ้นจากการใช้น้ำมันกัญชา
นอกจากนั้น ยังมีกรณีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัด เกิดปัญหานอนไม่หลับ แม้จะให้ยาแผนปัจจุบันไปแล้ว แพทย์กังวลว่าผู้ป่วยจะมารับเคมีบำบัดในครั้งต่อไปไม่ได้ จึงปรึกษามาทางแผนไทย และได้นำน้ำมันกัญชาไปช่วย ปรากฏว่าผู้ป่วยหลับได้ และสามารถกลับมารับเคมีบำบัดในครั้งต่อไป
ผลที่ผู้ป่วยได้รับทำให้แพทย์แผนไทยมีความมั่นใจในการใช้ยามากขึ้น และวิชาชีพต่าง ๆ ใน ร.พ. มีความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้นด้วย
นพ.มานะชัย อิงสุดารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอนตูม จ.นครปฐม กล่าวถึงประสบการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ ร.พ.ดอนตูม ซึ่งเป็น ร.พ. ขนาดเล็กและเน้นการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยว่า ทาง ร.พ. ได้เปิดรักษาตั้งแต่ ต.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยประมาณ 1,000 ราย ให้การรักษาประมาณ 3,000 ครั้ง เนื่องจากมีข้อจำกัด ทาง ร.พ. จึงจัดให้มีแพทย์แผนปัจจุบัน 1 คน และแพทย์แผนไทย 1 คน จ่ายยาพร้อมกัน 2 โต๊ะ เพื่อปรึกษากัน เพราะมีความชำนาญไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็ง รองลงมาเป็นอาการปวดต่าง ๆ (ปวดศีรษะ ปวดเรื้อรัง ปวดลมปะกัง) พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และโรคลมชัก นอนไม่หลับ และโรคอื่น ๆ
ผลการรักษาของน้ำมันกัญชา พบว่า 80% ของผู้ป่วยที่ทำตามที่ อ.เดชาแนะนำ มีอาการดีขึ้น โดยสูตรที่แนะนำ คือ ผู้หญิงเริ่มต้นที่ 3 หยด และขยับเพิ่มสัปดาห์ละ 2 หยด ส่วนผู้ชายเริ่มต้นที่ 5 หยด เมื่อพบจุดที่หลับได้ ให้คงไว้ระดับนั้น โดยไม่ต้องเพิ่มยา สำหรับผู้ป่วย 20% ที่อาการไม่ดีขึ้น ได้แก่ (1) กลุ่มที่ทำงานเป็นกะ เช่น พยาบาล แพทย์ รปภ. คนทำงานโรงงาน เนื่องจากนอนไม่เป็นเวลา ทำให้ต้องเปลี่ยนเวลากินยา (2) กลุ่มที่ปัสสาวะบ่อย ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่มีการผ่าตัดหรือมีการฉายรังสี ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำมาก หลัง 6 โมงเย็น ซึ่งได้แนะนำให้ดื่มน้ำน้อยลงเท่าที่จำเป็นในช่วงหลัง 6 โมงเย็น ทำให้มีอาการดีขึ้น (3) กลุ่มที่ใช้ยาไม่ตรงตามที่บอก เป็นกลุ่มที่คิดว่าใช้น้ำมันกัญชามากจะเกิดผลดี (4) กลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ญาติบอกว่าผู้ป่วยนอนเฉย ๆ แล้วจากไปอย่างสงบ
จากที่ อ.เดชาแนะนำว่า การใช้น้ำมันกัญชาต้องใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยจึงจะให้ผลดี ทาง ร.พ. พบว่าอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัวไมเกรน หรืออัลไซเมอร์ เป็นต้น หลังจากที่ใช้จนพบจุดที่ทำให้นอนหลับดีแล้ว ประมาณ 2-3 สัปดาห์ 80% ของผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น
สำหรับการใช้กัญชาในผู้ป่วยระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือให้รังสีรักษา ที่ ร.พ.ดอนตูม จะไม่ขยับ dose ของกัญชาเพิ่มขึ้น จะใช้ในระดับเท่าเดิมไปตลอดจนสิ้นสุดการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา จึงขยับ dose ของกัญชาขึ้น พบว่า ผู้ป่วยฟื้นสภาพได้เร็วขึ้น
สรุปการใช้น้ำมันกัญชาว่า (1) ใช้ตามขั้นตอน (2) อย่าใจร้อนกับการใช้น้ำมันกัญชา ให้หาจุดที่ใช้ได้ผล จากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ จะเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ดีขึ้นได้
อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า จากที่มอบน้ำมันกัญชาและผู้ป่วยกว่า 40,000 คน ให้ สธ. ไปดำเนินการ ปรากฏว่าการดำเนินการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ได้ผลที่ดีเกินคาด จากผลการวิจัยที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นถึง 80%
สำหรับโครงการที่นำเสนอในวันนี้มาจากความคิดที่ว่า นอกจากการรักษาผู้ป่วยแล้ว การใช้น้ำมันกัญชาจะช่วยให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สามารถฟื้นสุขภาพได้ เพราะการหลับได้ดีทุกคืนจะช่วยซ่อมร่างกายขึ้นมาเรื่อย ๆ จึงได้ทำ “โครงการวิจัยการใช้น้ำมันหมอเดชาเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุ” โดยเริ่มเปิดรับผู้สูงวัยเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 8 ก.พ. 2563 ที่วัดป่าเลไลย์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี กำหนดแจกน้ำมันกัญชาทุกวันจันทร์ให้ได้ 10,000 คน และติดตามผลทุกคนเป็นเวลา 1 ปี แต่ในเดือน มี.ค. หยุดจ่ายเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และเปิดใหม่ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ต่อเนื่องมาตลอด เวลานี้ได้จำนวนผู้เข้าร่วม 3,000 กว่าคน และจะรับต่อไปจนถึง 10,000 คน
คุณสมบัติและขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ คือ (1) อายุ 65 ปีขึ้นไป (2) จะต้องมาให้ข้อมูลทุกเดือน ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้าอบรมการใช้ก่อนและรับน้ำมันไปใช้ โดยมีการประเมินผลคุณภาพชีวิต 5 ด้าน ได้แก่ ความจำ การมองเห็น การได้ยิน อาการสั่น และการนอนหลับ
ได้นำข้อมูลที่รวบรวมตั้งแต่ ก.พ. ถึง มี.ค. 2563 ไม่เกิน 60 วัน จำนวนผู้สูงอายุ 1,500 คน ที่ใช้น้ำมันกัญชาระหว่าง 30 ถึง 60 วัน มาสรุปผลภาพรวม จากการประเมินคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุก่อนใช้ยาน้ำมันกัญชาในเรื่องความจำ พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการครั้งแรกที่มีความจำปกติ จำนวน 21% คน ที่เริ่มมีปัญหา 72% และที่มีปัญหามาก 7% การมองเห็น มีการมองเห็นปกติเพียง 5% กำลังมีปัญหา 72% และมีปัญหามาก 8% การได้ยินพบว่า 47% อยู่ในเกณฑ์ดี เริ่มมีปัญหา 49% ที่มีอาการไม่ดีมี 4% สำหรับอาการสั่น พบว่ามีอาการปกติ 70% เริ่มมีปัญหา 28% ที่มีปัญหาสั่นมาก 2% และการนอนหลับ หลับได้ปกติ 22% เริ่มนอนได้ไม่ดี 58% และนอนไม่ดี 20% ผลการเก็บข้อมูลเบื้องต้นนี้พบว่า ปัญหาที่มีมากที่สุด คือ (1) สายตาและการมองเห็น รองลงมาคือ (2) ความจำ และ (3) การนอนหลับ
หลังจากการใช้น้ำมันกัญชา 30 ถึง 60 วัน พบว่า มีความจำดีขึ้น 43% อาการปกติ/คงเดิม 56% และแย่ลง 1% ส่วนการมองเห็นมีอาการดีขึ้น 47% ปกติ/คงเดิม 52% และแย่ลง 1% การได้ยินดีขึ้น 47% อาการปกติ/คงเดิม 49% แย่ลง 4% สำหรับอาการสั่นดีขึ้น 23% ปกติ/คงเดิม 77% แย่ลง 1% และการนอนหลับได้ผลดีที่สุด คือ ดีขึ้น 80% ปกติ/คงเดิม 19% และแย่ลงเพียง 1% เพียงช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน จะเห็นว่า อาการนอนหลับดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อนอนหลับดีได้แล้ว ความจำเริ่มดีขึ้น 43% การมองเห็นและการได้ยินดีขึ้นเท่า ๆ กันประมาณ 47% แต่อาการสั่นดีขึ้นช้ากว่า คือ ดีขึ้นเพียง 23%
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คนสูงอายุสามารถฟื้นฟูคุณภาพชีวิตได้ ทำให้มองต่อไปว่า ถ้าคนสูงอายุรุ่น 65 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนมากสามารถฟื้นฟูสุขภาพให้ดีขึ้น ผู้สูงอายุจะไม่เป็นภาระของใครและสามารถทำงานได้ ประเทศไทยจะมีคนทำงานให้ประเทศมากขึ้นเป็น 10 ล้านคน หากรัฐบาลรับโครงการนี้ไปทำ จะมีค่าใช้จ่ายเป็นยาน้ำมันสูตรหมอเดชา เพียงวันละบาทเดียว เดือนหนึ่งไม่เกิน 30 บาท แต่จะได้อะไรอีกมากมาย จึงอยากให้ กรมฯ และ สธ. นำไปวิจัยควบคู่กับโครงการที่ทำอยู่ นอกจากเราจะฟื้นประเทศได้แล้ว ต่างประเทศจะมาซื้อยาของเราไปฟื้นฟูผู้สูงอายุหรือส่งผู้สูงอายุมาฟื้นฟูที่ไทย
ดร.ภก.ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินรายการส่วนบนเวทีเสวนา “ติดอาวุธทางปัญญา ปลูกกัญชาอย่างไร ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสร้างเศรษฐกิจ” ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 26 ส.ค.2563 ได้นำเสนอประเด็นข้อกฎหมายใหม่ว่าด้วยการปลูกกัญชาและต่อยอดการแพทย์แผนไทย เน้นแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดระดับประเทศด้วยนวัตกรรมในการบริการและผลิตภัณฑ์กัญชา การพัฒนากัญชาทางการแพทย์จะต้องควบคู่กับบริการแบบองค์รวมให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ ส่งเสริมองค์ความรู้ให้วิสาหกิจชุมชนเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน
ภญ.กรพินธุ์ ณ ระนอง รักษาในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ พ.ศ. .... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า อย. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อกฎหมายฉบับนี้ก่อนเสนอไปยัง ครม. โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับบุคคล 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน ว่า มีความจำเป็นต้องปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรคของตนเอง กลุ่มที่ 2 คือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านที่ปลูกกัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วย เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยต่อไป กลุ่มที่ 3 ได้แก่ เกษตรกรที่มีความร่วมมือกับผู้ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถปลูกกัญชาส่งให้ผู้ผลิตดังกล่าวเพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมยาแผนไทยต่อไป เป็นการต่อยอดการแพทย์แผนไทยซึ่งไม่เหมือนประเทศอื่น โดยกัญชาของต่างประเทศจะเน้นไปในทางแผนปัจจุบัน แต่ของไทยจะมีทั้ง 2 แนว
ขณะนี้กฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่แก้ไขนี้ไม่เกินจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 คือ ยังเน้นให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ต้องการให้ใช้กัญชาไปในวัตถุประสงค์อื่น
พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไปในระดับประเทศ คือ เรื่ององค์ความรู้ และยังมีข้อจำกัดของการใช้กัญชาทางการแพทย์ของแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบันที่ไม่สามารถสั่งยาตำรับแผนไทยได้ ซึ่งที่ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ทำนวัตกรรมในเรื่องนี้ คือ การเปิดคลินิกครบวงจร ให้แพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบันออกรักษาพร้อมกัน และได้เสนอผู้บริหารว่าจะพิจารณาให้แพทย์แผนปัจจุบันสามารถสั่งยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมได้เช่นเดียวกับสมุนไพรอื่น ๆ หรือไม่ สำหรับข้อจำกัดของงานกัญชาระดับประเทศ เวลานี้แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบและข้อมูลเป็นของตนเอง ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล เช่น องค์การเภสัชกรรมต้องมาขอข้อมูลจาก อย. ในขณะที่ อย. ต้องขอข้อมูลจากสำนักงานปลัด สธ. ทำให้เกิดความล่าช้า จึงเสนอว่าควรให้มี platform ที่หน่วยงานต่าง ๆ หรือประชาชนสามารถเข้าไปใช้งานค้นหาข้อมูลได้ โดยมีระบบแอดมินดูแลการอนุญาต จะทำให้ทุกส่วนงานสามารถเข้าไปดูข้อมูลตามสิทธิของตัวเองได้ โดยไม่ต้องเสียเวลา คาดว่าถ้ากำหนดเรื่องนี้ออกมาเป็นนโยบายได้ ผู้ปลูกที่ต้องการรู้ว่าตลาดต้องการเท่าไร ราคาเวลานี้เท่าไร จะสามารถเข้าไปดูและกำหนดการปลูกได้โดยไม่ล่าช้า ส่วนเภสัชกรจะดูได้ว่าสามารถนำสิ่งที่ปลูกมาใช้ตามคุณภาพที่ต้องการได้หรือไม่ จะช่วยให้ใช้เวลาไม่นาน จะตอบสนองดีมานด์และซัพพลายได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาเกือบ 6 เดือน กว่าจะได้รับอนุมัติให้ปลูกเช่นทุกวันนี้
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญแก้ว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กล่าวว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบันมี 3 แผน คือ (1) แผนปัจจุบัน เป็นยาสารสกัด เน้นการควบคุมสารสำคัญ คือ THC และ CBD (2) ยาตำรับแผนไทย และ (3) การใช้แผนพื้นบ้าน
การใช้ในแผนปัจจุบันมีใน ร.พ.สังกัด สธ. และ ร.พ.สังกัดอื่น รวมทั้งคลินิกเอกชนที่เข้าถึงยา ผลการใช้พบว่า ข้อมูลของ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกค่อนข้างไปทางเดียวกัน กล่าวคือ ยาสารสกัดกัญชาค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนได้ จากการต้องตรวจค่าตับ ไต ความดันโลหิต สัญญาณชีพต่าง ๆ ถ้าผู้ป่วยมีไตและตับผิดปกติ จะมีบางกรณีที่แพทย์ให้ใช้ เนื่องจากเป็นมะเร็งที่ลามไปยังอวัยวะนั้นแล้ว และการใช้จะให้ประโยชน์กว่า
ส่วนประสิทธิผล พบว่า ข้อมูลของประเทศไทยสอดคล้องกับงานวิจัยในปัจจุบัน คือ CBD รักษาโรคทางสมอง เช่น พาร์กินสัน ลมชัก ส่วน THC พบว่าได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยประคับประคอง ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ทั้งยังส่งผลดีต่อญาติหรือผู้ดูแล (caregiver) ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบว่ากัญชาช่วยชะลอการลุกลามของมะเร็งหรือไม่
การใช้ยาแผนไทยที่ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรใช้ 2 ตำรับ คือ ศุขไสยาศน์ ที่ ร.พ. จะให้เป็นยาเสริม เช่น การนอนไม่หลับ จะไม่ให้ยาไปกินทันที เพราะกระบวนการนอนไม่หลับเป็นการดูแลแบบองค์รวม จะต้องปรับเรื่องอื่นก่อน และจะให้ยาเฉพาะกรณีผู้ป่วยได้รับยานอนหลับหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ช่วยการนอนหลับแล้วแต่ไม่ดีขึ้น จึงให้ยาศุขไสยาศน์เสริมเข้าไป พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีคุณภาพการนอนดีขึ้น ทำให้หลับเร็วและหลับลึกขึ้น ตื่นขึ้นมารู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่ามีแรง ส่วนยาทำลายพระสุเมรุซึ่งใช้กับอาการชาและปวด ที่ ร.พ. เพิ่งมีผู้ป่วยเพียง 6 ราย ยังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ แต่พบว่าผู้ป่วยทุกรายลดอาการปวดได้หมด แต่ยังไม่ลดชา
กลุ่มแผนสุดท้าย คือ น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา)
การพัฒนาเรื่องกัญชาต้องควบคู่กับการบริการ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะแรกที่แพทย์แผนปัจจุบันส่งต่อให้แพทย์แผนไทย เมื่อจับชีพจรแล้วพบว่ามีอาการร้อน จะไม่ให้ยาตำรับศุขไสยาศน์ และจะให้ยาอื่นที่มีฤทธิ์เย็นแทน ดังนั้น ในอนาคตกัญชาควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการบริการที่เป็นแบบองค์รวม และเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เช่น นอนหลับได้ แพทย์แผนไทยจะจูงใจให้หยุดยา เพื่อผู้ป่วยจะอยู่ได้ด้วยการไม่ต้องพึ่งยาและดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
สำหรับประสบการณ์ของวิสาหกิจกับการปลูกกัญชาทางการแพทย์ นายปวรรณ ศรีจันทร์งาม ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนบ้านพร้าว จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงข้อดีของการปลูกกัญชาว่า สามารถนำทุกส่วนของกัญชาไปขายได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงปลายปีเพื่อนำดอกไปขาย โดย ร.พ. สามารถนำไปใช้ได้ทุกส่วน ทั้งเมล็ด กิ่ง ก้าน ใบ ส่วนข้อจำกัดที่คิดว่ายังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ คือ เกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ ไม่เข้าใจว่า คำว่า medical grade ที่จะนำไปใช้ผลิตยาได้ ว่าคืออะไร ต้องไปในทิศทางไหน ใช้อะไรได้บ้าง หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าคุณภาพดอกต้องเหมือนที่เห็นที่อเมริกา และขายได้ราคาแพง ถ้าสามารถให้ภาคเกษตรปลูกและลดราคาลงได้ จะทำให้มียากัญชากระจายในประเทศได้มากขึ้น เพิ่มการเข้าถึงยากัญชาของประชาชนและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในประเทศ รวมทั้งลดการนำเข้าลง
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้การปลูกกัญชาประสบความสำเร็จได้ คือ ความร่วมมือในวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะทำให้มีอำนาจต่อรองได้มากกว่า และเมื่อมีวิสาหกิจชุมชน มี รพ.สต. จะทำให้คนไทยสนใจกัญชามากขึ้น และเริ่มเปิดใจว่ากัญชาไม่ใช่สารอันตราย ถ้าใช้และควบคุมเผยแพร่อย่างถูกต้อง ข้อดีของวิสาหกิจประการหนึ่ง คือ ลงทุนได้เร็ว เกษตรกรรายย่อยสามารถทำการเพาะปลูกได้
นอกจากนั้น ยังต้องการให้มีโมเดลแบบสถาบันไร่อ้อย เพราะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น ปีหน้าราคาอ้อยจะเป็นเท่าไร เกษตรกรควรปลูกหรือไม่ ควรปลูกเท่าไร ปีหน้ามีพันธุ์อะไรมาใหม่ สถาบันนี้จะนำข้อมูลมารวมกันและสามารถให้แนวทางแก่เกษตรกรได้ว่าควรตัดสินใจอย่างไร เช่น ปลูกแบบนี้จะเกินทุน หรือ ร.พ.ไม่สามารถรับซื้อได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ประชาชนและหน่วยงานที่จะใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงได้ง่าย
แพทย์แผนไทยประยุกต์ เบญจวรรณ หมายมั่น หัวหน้าฝ่ายสื่อสารข้อมูล ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดำเนินรายการเสวนา