จากการยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการด้านสุขภาพในระดับปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งผลต่อความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแก้ปัญหาต่างๆ มาเป็นลำดับ
จากการยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการด้านสุขภาพในระดับปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งผลต่อความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแก้ปัญหาต่างๆ มาเป็นลำดับ โดยส่วนหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในเบื้องต้น ทั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหาเชิงระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงเร่งทำการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำทางเลือกของการบริหารจัดการคลินิกชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในพื้นที่ กทม. โดยข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า สถานการณ์การใช้บริการและจำนวนหน่วยบริการจากอดีตถึงปัจจุบันในพื้นที่ กทม. ชี้ชัดว่า การดำเนินการของหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพและให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ กทม.จึงริเริ่มรูปแบบของคลิกนิกชุมชนอบอุ่นที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน แม้ว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในด้านคุณภาพและความพึงพอใจจะไม่ได้สูงกว่าหน่วยบริการภาครัฐก็ตาม แต่การมีคลินิกชุมชนอบอุ่นยังมีความจำเป็นและเป็นปัจจัยสำคัญด้านการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ กทม.
การวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ดำเนินการโดย รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. เน้นศึกษาสาระสำคัญ 4 กลุ่มประเด็น 1) ทางเลือกของการบริหารจัดการคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ กทม. 2) สิ่งที่ต้องพัฒนาในแต่ละทางเลือกสำหรับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. 3) หลักเกณฑ์พิจารณาทางเลือกและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการที่สำคัญและจำเป็นของแต่ละทางเลือก 4) การเปรียบเทียบทางเลือกตามหลักเกณฑ์การพิจารณาที่กำหนดไว้ และเงื่อนไขสำคัญประกอบการดำเนินการเพื่อให้ทางเลือกดังกล่าวประสบความสำเร็จ
โดยข้อเสนอจากงานวิจัย ระบุ 3 ทางเลือกการบริหารจัดการคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ กทม. ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 ยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นภาคเอกชนทั้งหมดที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการปฐมภูมิ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เป็นคลินิกเดี่ยว คลินิกที่ดำเนินการเป็นเครือข่าย และคลินิกของโรงพยาบาลเอกชน คงไว้เฉพาะหน่วยบริการประจำที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนในสัดส่วนเดิม โดยภาคเอกชนอาจเข้าร่วมในเครือข่ายบริการในฐานะหน่วยบริการที่รับส่งต่อหรือหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการเฉพาะด้าน เช่น ร้านยา หรือคลินิกกายภาพบำบัด
ทางเลือกที่ 2 ให้คลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีความพร้อมและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถเป็นหน่วยบริการประจำที่บริหารเครือข่ายบริการสุขภาพปฐมภูมิเต็มรูปแบบเทียบเท่าศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ในขณะที่คลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน อาจเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้โดยเป็นหน่วยบริการในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ
ทางเลือกที่ 3 ให้มีคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบริการสุขภาพปฐมภูมิภายใต้นโยบายที่ให้ประชาชนไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ ซึ่งคลินิกชุมชนอบอุ่นสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ กทม. ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำอยู่แล้ว ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการประจำของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ย้ำถึงการวิจัยครั้งนี้ว่า เป็นการวิจัยเชิงสังเคราะห์ที่ได้เร่งศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก่อนที่จะจัดทำเป็นข้อเสนอทางเลือกให้กับผู้กำหนดนโยบาย เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนผู้รับบริการในเขต กทม. ซึ่งข้อเสนอทางเลือกจากงานวิจัยดังกล่าว ได้ถูกนำเสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทิศทางของการระดมความคิดเห็น มีแนวโน้มของการเลือกข้อเสนอการบริหารจัดการคลินิกชุมชนอบอุ่น ตามทางเลือกที่ 2 และ 3 ทั้งนี้จุดแข็งของทางเลือกที่ 2 คือประชาชนสามารถเลือกคลินิกได้หลากหลาย และอาจมีการวางเป้าหมายในอนาคตว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นที่บริหารโดยเอกชน สามารถพัฒนาไปสู่หน่วยบริการประจำได้ แต่ต้องมีความชัดเจนว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของในการให้บริการในระยะยาว ส่วนทางเลือกที่ 3 มีจุดแข็งสำคัญคือ การเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว โดยมีหน่วยบริการภาครัฐเป็นหน่วยบริการประจำ ทำให้มีหลักประกันความต่อเนื่อง ซึ่งทางเลือกที่ 3 อาจใช้ร่วมกับทางเลือกที่ 2 ได้ นอกจากนี้สิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะใช้ทางเลือกใดในการดำเนินการสำหรับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. คือ การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการสร้างศักยภาพหลักในการจัดและบริหารระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยพัฒนาโปรแกรมเวชระเบียนกลางเพื่อใช้ร่วมกัน การพัฒนาระบบสมุดสุขภาพประชาชนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ การวางระบบทบทวนการใช้ทรัพยากรและการใช้บริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการติดตาม ร่วมกับกระบวนการตรวจสอบการเบิกจ่ายอย่างเป็นระบบ เป็นต้น