กรม สบส.วางโครงการดึงดูดนักท่องเที่ยว ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันไทยเป็นศูนย์กลางทันตกรรม

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วางโครงการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ โดยการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้าน
ทันตกรรม หรือ Dental Hub พร้อมชงภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรก


          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ภาครัฐมีนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำให้การดำเนินการตามนโยบายฯต้องชะลอตัวลง ดังนั้น เมื่อประเทศไทยและนานาประเทศได้ก้าวพ้นสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 แล้ว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรม สบส.จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านทันตกรรม (Dental Hub) นำบริการทันตกรรมที่มีศักยภาพสูงมาเป็นจุดดึงดูดชาวต่างชาติ โดยนำร่องคลินิกทันตกรรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เน้นบริการทันตกรรมเพื่อความงาม และกำหนดอัตราค่าบริการเป็นราคาเดียว (One Price Policy) ซึ่งแต่ละคลินิกสามารถกำหนดอัตราค่าบริการทางทันตกรรมที่แตกต่างกันได้ แต่จะต้องเก็บค่าบริการในอัตราเดียวกันทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้ชาวไทยและต่างชาติเข้ารับบริการ รวมถึงเตรียมการพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกัน ผู้รับบริการสามารถค้นหารายชื่อคลินิกทันตกรรม ชื่อหัตถการ หรือทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ มีการพัฒนาศูนย์ล่าม ระบบการเบิกจ่ายค่ารักษา (Claim Center) เป็นต้น


          ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคลินิกทันตกรรมทั้งสิ้น 6,173 แห่ง ซึ่งสถานพยาบาลของไทยก็ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในด้านการบริการ คุณภาพมาตรฐานเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงราคา การนำจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำ มาเป็นพื้นที่นำร่อง Dental Hub เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบในการรับบริการด้านสุขภาพ หรือการท่องเที่ยวจากทั่วโลกมารับบริการจาก Dental Hub ของไทยได้ โดยคลินิกทันตกรรมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล รวมทั้งมีความพร้อมในองค์ประกอบ ได้แก่ 1.ด้านสถานที่ มีโครงสร้างปลอดภัย สะอาด มีการทำความสะอาดอุปกรณ์เสมอ 2.ด้าน COVID Free Setting จัดจุดคัดกรองผู้รับบริการ และมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด 3.ด้านการรักษา มีการคัดกรองก่อนให้การรักษา ครอบคลุมข้อมูลทางการแพทย์ เครื่องมือปลอดเชื้อ 4.ด้านผู้ให้บริการ มีบุคลิกภาพและการแต่งกายที่เหมาะสม มีศักยภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และ 5.ด้านข้อมูล/เอกสาร มีเอกสารประกอบการบันทึกหรือสื่อสารกับผู้รับการรักษาเป็นภาษาอังกฤษ มีการทำแผนการรักษาร่วมกับผู้รับการรักษาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยคาดว่าจะเปิดให้คลินิกทันตกรรมที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2565