ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงในทุกสิ่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงในทุกสิ่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเราจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
ในอนาคตสิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้า คือ การที่ทุกคนจะต้องอยู่ในระบบนิเวศของการสร้างนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งในการนี้เราจำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านการวิจัย เนื่องจากการที่จะผลิตนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ยั่งยืนต้องมาจากการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยเชิงพื้นฐาน และการวิจัยทางด้านการประยุกต์ใช้
อุตสาหกรรมซึ่งเป็นเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ อุตสาหกรรมทางการเกษตร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่ง "กุ้ง" นับเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดย "เปลือกกุ้ง" ที่หลายคนมองว่าไม่มีมูลค่า และปล่อยทิ้ง สามารถนำเอามาเตรียมสาร "ไคโตซาน" ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกว่า "สารไคโตซานโอลิโกซัคคาไรด์" ที่เตรียมได้จากเปลือกกุ้ง สารนี้มีขนาดโมเลกุลที่เล็กกว่า "ไคโตซาน" จึงสามารถดูดซึมในลำไส้เข้าสู่ร่างกายได้ เวลาเข้าไปในลำไส้จะสามารถจับกับโปรตีนตัวรับตัวหนึ่งที่อยู่บนผิวเซลล์ และจะสามารถส่งสัญญาณในเซลล์ ทำให้ลำไส้แข็งแรง ลดการอักเสบ และลดการคัดหลั่ง และสูญเสียอิเลคโตรไลต์ได้ อีกทั้งมีผลต่อเซลล์ในอวัยวะอื่นๆ เช่น ข้อเข่า ตับ และไต ซึ่งผลจากการวิจัยดังกล่าวสามารถต่อยอดเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก โรคถุงน้ำในไต และโรคข้อเข่าเสื่อม ฯลฯ
"เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "ไคโตซาน" มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค แต่ยังรอคอยการค้นพบว่ามีผลอย่างไรต่อร่างกาย และสามารถป้องกันโรคอะไรได้บ้าง ซึ่งนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังสามารถยับยั้งเอนไซม์ที่ย่อยไขมัน ทำให้ร่างกายลดการดูดซึมไขมัน และเพิ่มการเผาผลาญพลังงานได้ และจากการค้นพบประโยชน์จาก "ไคโตซาน" ในหลากหลายรูปแบบจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งผู้ผลิตกุ้ง ผู้เลี้ยงกุ้ง ตลอดจนผู้ส่งออกกุ้งด้วย"
"หากเราเอาความรู้จากงานวิจัยไปประยุกต์กับการพยายามเข้าใจว่าสารต่างๆ มีประโยชน์อย่างไร ก็จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้" ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท กล่าวทิ้งท้าย