ระดมสมองจัดทำแผนปฏิบัติราชการ สปสช. ปี 66-70 เน้น 3 ด้าน ‘ประชาชน การเงินการคลัง ธรรมาภิบาล’

สปสช. ระดมสมอง หน่วยงานกำหนดนโยบาย นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข เครือข่ายประชาชน จัดทำแผนปฏิบัติราชการ ฉบับที่ 5 รุกขับเคลื่อน “กองทุนบัตรทอง ปี 2566-2570” ต่อเนื่อง หลังผ่านพ้นดำเนินการ 4 ระยะ มุ่งเน้นสร้างความครอบคลุมและทั่วถึงด้านสุขภาพให้คนไทยทุกคน การเงินการคลังมั่นคง-เพียงพอ ธรรมาภิบาลของระบบ


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะประเด็นยุทธศาสตร์และการดำเนินงานเพื่อประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมี ผศ.ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) สถาบันอนาคตไทยศึกษา เป็นวิทยากรและระดมสมองในหัวข้อ Foresight: อนาคตของระบบสุขภาพไทยและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติการจะบรรลุเป้าหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้นั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางและแผนการในการขับเคลื่อน ซึ่งในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2546-2565) สปสช. มีแผนที่เป็นกรอบดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 4 ระยะ ประกอบด้วย


ระยะที่ 1 ปี 2546-2550 เส้นทางเดิน (roadmap) สู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


ระยะที่ 2 ปี 2551-2554 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน


ระยะที่ 3 ปี 2555-2559 เน้นความยั่งยืนระบบหลักประกันสุขภาพ


ระยะที่ 4 ปี 2560-2564 ปรับเปลี่ยนเป็น “แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี 2561-2565 มุ่งเป้าประสงค์ 3 มิติ คือ ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล


นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนทั้ง 4 ระยะข้างต้นนี้ ทำให้ให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประสบผลสำเร็จ ไม่เพียงแต่สร้างความครอบคลุมและทั่วถึงด้านสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน แต่ยังทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเข้มแข็งสู่ความยั่งยืนได้ และในวันนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งของการระดมสมองเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนในระยะที่ 5 ต่อจากนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยก่อนหน้านี้ระดมสมองในส่วนของ สปสช.ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และครั้งนี้เป็นการระดมสมองจาก หน่วยงานกำหนดนโยบาย หน่วยงานวิชาการ/ ภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ ผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้รับบริการ (เครือข่ายผู้ป่วย/ประชาชน) โดยมีวิทยากรจาก สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ห้องปฏิบัติการนโยบาย (Thailand Policy Lab) และ UNDP Thailand ร่วมกระบวนการจัดทำแผนฯ ในครั้งนี้ 


ประเด็นสำคัญของการจัดทำแผนฯ พ.ศ.2566-2570 ประกอบด้วย 3 ด้านสำคัญดังนี้


1.ประชาชน ความครอบคลุมของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน คนชายขอบ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ต้องเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งสิทธิการเข้าถึงบริการที่จำเป็น และคุณภาพบริการที่ได้รับ


2.การเงินการคลังมีความเพียงพอ สร้างความยั่งยืนทางการเงินระยะยาว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบการเงินการคลังสุขภาพเหมาะสม สมดุล มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้


3.ธรรมาภิบาลของระบบ การบริหารจัดการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สนับสนุนให้มีกลไกการมีส่วนร่วม ความร่วมมือ และการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข หน่วยงานและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน


“เวทีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สปสช.ได้มีการประชุมระดมสมองเพื่อขับเคลื่อนระบบอย่างต่อเนื่อง สปสช.ต้องการรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกท่านว่าอยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นแบบไหน มีการพัฒนาและเติบโตเพื่อเป็น Safety Net หรือโครงข่ายความปลอดภัยรองรับการดูแลสุขภาพที่ดีของประชาชนไทยอย่างไร และในวันนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งของการร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยแนวโน้มและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันมองภาพในอนาคตเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติราชการฯ ในระยะ 5 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เชิงสังคม สุขภาพและเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังอยู่ในการขับเคลื่อนระดับโลก ดังนั้นการขับเคลื่อนคงต้องดูทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ภาระทางการคลัง ซึ่งผลของการระดมสมองวันนี้จะมีการกลั่นกรองและจัดทำเป็นแผนปฏิบัติราชการของ สปสช. เสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว